ทูต (บาลีวันละคำ 223)
ทูต
ภาษาบาลีอ่านว่า ทู-ตะ
ใช้ในภาษาไทย เขียนเหมือนบาลี อ่านว่า ทูด
“ทูต” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขาส่งไป” “ผู้เดือดร้อน” (เพราะจะต้องผจญการต่างๆ แทนเจ้าของเรื่อง) หมายถึง ผู้ไปทำการแทน
บางตำราว่า “ทูต” ใช้ “ทูร” (ทู-ระ) แทนได้ โดยความหมายว่า “ผู้ถูกส่งออกไปไกล”
“ทูร” แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ห่างไกล ตรงกันข้ามกับ “อาสนฺน”(อา-สัน-นะ) และ “สนฺติก” (สัน-ติ-กะ) ซึ่งแปลว่า “ใกล้” หรือใช้ศัพท์ปฏิเสธว่า “อวิทูร” (อะ-วิ-ทู-ระ) แปลว่า “ไม่ไกล”
เวลาไปฟังสวดพระอภิธรรม จะได้ยินคำสวดตอนหนึ่งว่า “ยัง ทูเร วา สันติเก วา” คำบาลีที่กล่าวถึงนี้ แปลว่า “สิ่งที่ตามองเห็น จะอยู่ไกลก็ตาม อยู่ใกล้ก็ตาม จัดเป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า รูป”
“ทูต” คำนี้บางคนชอบใช้ตัว ฑ มณโฑ หรือ ฑ หัวแตก เหมือน ทีฆายุโก (ท ทหาร) ชอบเขียนเป็น ฑีฆายุโก
โปรดทราบว่า ท ทหาร แม้รูปร่างจะใกล้กับ ฑ มณโฑ แต่ถ้าเขียนผิดคำ ความหมายก็ผิดไปไกล
: ผู้หญิงเป็นทหาร ทำได้
: แต่เอา ฑ มณโฑ มาแทน ท ทหาร อย่าทำ
บาลีวันละคำ (223)
17-12-55