สกิเทว (บาลีวันละคำ 2,126)
สกิเทว
หลุมพรางของสนธิ
อ่านว่า สะ-กิ-เท-วะ
มีข้อความภาษาบาลีในพระไตรปิฎกที่เป็นประเด็นถกเถียง ขอยกมาแห่งหนึ่งดังนี้ –
………………
ปุน จปรํ มหาลิ ภิกฺขุ ติณฺณํ สญฺโญชนานํ ปริกฺขยา ราคโทสโมหานํ ตนุตฺตา สกทาคามี โหติ สกิเทว อิมํ โลกํ อาคนฺตฺวา ทุกฺขสฺสนฺตํ กโรติ.
ที่มา: มหาลิสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 251 (มีในที่อื่นอีก)
แปลเป็นไทยดังนี้ –
………………
ดูก่อนมหาลี ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นสกทาคามี มาสู่โลกนี้เพียงอีกครั้งเดียวจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสัญโยชน์ 3 หมดสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะ เบาบางไป
………………
คำที่ถูกยกไปถกเถียงคือ “สกิเทว”
ในที่นี้แปลว่า “เพียงอีกครั้งเดียว”
เจ้าสำนักแห่งหนึ่งยืนยันว่า คำนี้ต้องแปลว่า “เทวดาคราวเดียว” (หมายถึงไปเกิดเป็นเทวดาอีกครั้งเดียว)
หลักภาษา :
“สกิเทว” ไม่ใช่เป็นศัพท์คำเดียว แต่เป็นคำสนธิ หรือที่ในภาษาไทยมักเรียกควบกันว่า “สมาสสนธิ”
เมื่อจะแยกศัพท์ ต้องรู้หลักภาษาจึงจะแยกถูก
คำที่เป็นตัวอย่างเทียบเช่น “คมนาคม”
ถ้าให้เด็กที่มีความรู้พออ่านออกเขียนได้แยก เด็กก็จะแยกเป็น คม + นา + คม เพราะตามองเห็นเช่นนั้น แต่เป็นการแยกผิด
ถ้าให้คนที่มีความรู้ทางภาษาไทยพอสมควรแยก ก็จะแยกถูก คือแยกเป็น คมน + อาคม
“คมน” ก็ดี “อาคม” ก็ดี เป็นรูปคำที่ไม่ปรากฏให้เห็นตรงๆ แต่หลักภาษาบอกให้รู้ว่าในคำว่า “คมนาคม” มีคำว่า “คมน” กับคำว่า “อาคม” แฝงอยู่
คำว่า “สกิเทว” ก็เช่นเดียวกัน ถ้าให้คนที่ไม่รู้บาลีแยก ก็จะแยกเท่าที่ตาเห็น คือแยกเป็น สกิ + เทว
“สกิ” แปลว่า คราวเดียว, ครั้งเดียว
“เทว” แปลว่า เทวดา
“สกิเทว” จึงแปลว่า “เทวดาคราวเดียว”
นี่คือสาเหตุที่ทำให้มีการแปล “สกิเทว” ว่า “เทวดาคราวเดียว”
แต่ตามหลักภาษา คำว่า “สกิเทว” เป็นรูปคำสนธิระหว่าง สกึ (สะ-กิง) + เอว (เอ-วะ)
“สกึ” รูปคำเดิมคือ สกิ + อํ (หรือเรียกว่า ลง อํ นิคหิต) = สกึ แปลว่า “ครั้งเดียว” หรือ “คราวเดียว” = once
“เอว” แปลว่า “นั่นเทียว” “เท่านั้น” “นั่นแหละ” = only
ขั้นตอนการสนธิ :
(1) แปลงนิคหิต คือ อํ ที่ สกึ เป็น ท
: สกึ > สกิท (สกึ หายไป กลายเป็น สกิท)
(2) สกิท + เอว = สกิเทว (เอ– มีแต่เสียง ไม่มีรูป อ อ่าง = เ–ว)
สกิเทว จึงแปลว่า “ครั้งเดียวเท่านั้น” = once only
จะเห็นได้ว่า ในคำว่า “สกิเทว” ไม่มี “เทว” ที่แปลว่า “เทวดา” อะไรอยู่ด้วยเลย
รูปคำ “เทว” ในที่นี้เกิดจากการสนธิ คือประสมกันระหว่าง สกิ–ท + เ–ว
ท + เ–ว = เทว
“เทว” ในที่นี้จึงไม่ใช่ “เทว” ที่แปลว่า “เทวดา”
ข้อพิสูจน์ว่า “เทว” ในที่นี้ไม่ใช่ “เทว” ที่แปลว่า “เทวดา” ก็คือ
๑. ภาษาบาลีเป็นภาษาตระกูลเดียวกับภาษาอังกฤษ (Indo-European languages) คำแสดงหลักสั้นๆ ก็คือ “ภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย”
ตัวอย่างเช่นคำว่า เทว (เท-วะ = เทวดา) ยังไม่ได้ประกอบวิภัตติปัจจัยก็เอาไปใช้ไม่ได้ เรียกว่าเป็น “ศัพท์ดิบ” เหมือนอาหารที่ยังไม่ได้ปรุงให้สุกยังรับประทานไม่ได้ฉะนั้น
๒. “เทว”
ถ้าเป็นประธานในประโยค
เทวดาองค์เดียว เปลี่ยนรูปเป็น “เทโว”
เทวดามากกว่าหนึ่งองค์ (พหูพจน์) เปลี่ยนรูปเป็น “เทวา”
ถ้าเป็นกรรมในประโยค
เทวดาองค์เดียว เปลี่ยนรูปเป็น “เทวํ” (เท-วัง)
เทวดามากกว่าหนึ่งองค์ (พหูพจน์) เปลี่ยนรูปเป็น “เทเว”
ถ้าต้องการให้เป็นคำทักทาย (addressing) คือแปลว่า “ดูก่อนท่านเทวดา” รูปคำก็จะเป็น “เทว” (เท-วะ) เหมือนเมื่อยังเป็นศัพท์ดิบ
อย่างนี้เป็นต้น
ในที่นี้ “สกิเทว” ไม่ได้เปลี่ยนรูปเป็น “สกิเทโว” “สกิเทวา” “สกิเทวํ” หรือ “สกิเทเว”
หากแต่คงรูปเป็น “สกิเทว”
และถ้า “เทว” ในที่นี้แปลว่า “เทวดา” “สกิเทว” ก็ต้องเป็น “อาลปนะ” คือคำทักทาย
นั่นคือจะต้องแปลว่า “ดูก่อนท่านเทวดาคราวเดียว”
นั่นคือหมายถึงมีใครคนหนึ่งกำลังพูดกับเทวดา
และนั่นคือจะต้องตอบได้ว่า ใครกำลังพูดกับเทวดา
ถ้าไปดู “สกิเทว” ที่ใช้ในข้อความอื่นจะเข้าใจทันที เช่น –
………………
เอวํ โข อหํ มหาราช อภิชานามิ วาจํ ภาสิตา นตฺถิ โส
สมโณ วา พฺราหฺมโณ วา โย สกิเทว สพฺพํ ญสฺสติ สพฺพํ
ทกฺขติ เนตํ ฐานํ วิชฺชตีติ ฯ
(มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 13 ข้อ 575)
(เป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล)
แปลเป็นไทยดังนี้ –
ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง “ในคราวเดียวเท่านั้น” ไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
………………
ความหมายของพระพุทธวจนะนี้ก็คือ คนที่ฟังเทศน์ฟังธรรมเพียงครั้งเดียวแล้วจะรู้จะเห็นธรรมทั้งหมดนั้นเป็นไปไม่ได้
ฟังเทศน์ครั้งเดียวอาจได้บรรลุธรรมบางระดับ แต่ไม่ใช่รู้ธรรมทั้งหมด
ถ้าแปล “สกิเทว” ว่า “เทวดาคราวเดียว” ข้อความนั้นจะต้องแปลว่า –
………………
ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง “เทวดาคราวเดียว” ไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
………………
ถ้าแปลอย่างนี้ พระพุทธวจนะบทนี้ก็วิปริตผิดเพี้ยนหมดสิ้น
ถามว่า “เทวดาคราวเดียว” มาเกี่ยวอะไรด้วยกับพระพุทธวจนะบทนี้
ภาษาบาลีนั้นสามารถเรียนรู้ได้ ผู้ที่ไม่เรียนให้รู้ แต่ใช้วิธีคาดเดาเอาเองตามที่ตาเห็น ย่อมตกหลุมพรางของหลักภาษาได้ด้วยประการฉะนี้
ดูเพิ่มเติม: “โอสถ” บาลีวันละคำ (1,557) 8-9-59
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สิ่งที่ท่านเห็น
: อาจไม่เป็นอย่างที่ท่านคิด
—————
(ตามคำขอของ Nop BanPhaeo)
#บาลีวันละคำ (2,126)
8-4-61