มหาภิเนษกรมณ์ (บาลีวันละคำ 1,534)
มหาภิเนษกรมณ์
สูง ใหญ่ ยาก แต่มากด้วยมหาอานิสงส์
อ่านว่า มะ-หา-พิ-เนด-สะ-กฺรม
ประกอบด้วย มหา + อภิเนษกรมณ์
(๑) “มหา” (มะ-หา)
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ มหนฺต เข้าสมาสกับ –อภิเนษกรมณ์ เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
(๒) “อภิเนษกรมณ์”
บาลีเป็น “อภินิกฺขมน” ประกอบด้วย อภิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, เฉพาะ, ข้างหน้า) + นิกฺขมน
1) “นิกฺขมน” รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = ออก) + กมฺ (ธาตุ = ก้าวไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง ก ต้นธาตุเป็น ข (กมฺ > ขมฺ), ซ้อน กฺ ระหว่าง นิ + กมฺ (นิ + กฺ + กมฺ)
: นิ + กฺ + กมฺ = นิกฺกม + ยุ > อน = นิกฺกมน > นิกฺขมน แปลตามศัพท์ว่า “การก้าวออกไป”
“นิกฺขมน” หมายถึง การออกไป, การจากไป; การสละ (going out, departing; renunciation)
2) อภิ + นิกฺขมน = อภินิกฺขมน แปลตามศัพท์ว่า “การออกไปเพื่อคุณอันยิ่ง”
“อภินิกฺขมน” หมายถึง การออกอภิเนษกรมณ์, โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกไปสู่ชีวิตบรรพชิต, การสละโลกียวิสัย, การออกบวช (departure, going away, esp. the going out into monastic life, retirement, renunciation)
มหา + อภินิกฺขมน = มหาภินิกฺขมน แปลตามศัพท์ว่า “การออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่” แปลทับศัพท์ว่า การออกมหาภิเนษกรมณ์ (the great renunciation)
“มหาภินิกฺขมน” ในภาษาไทยเขียนอิงรูปสันสกฤตเป็น “มหาภิเนษกรมณ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหาภิเนษกรมณ์ : (คำนาม) การเสด็จออกบรรพชาของพระพุทธเจ้า. (ส. มหาภินิษฺกฺรมณ; ป. มหาภินิกฺขมน).”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“มหาภิเนษกรมณ์ (Mahābhinikkhamana) : the Great Renunciation; the going forth of the Bodhisatta into the homeless life.”
บุคคลทั่วไปออกบวช เรียกว่า ออกบรรพชาธรรมดา แต่พระโพธิสัตว์-คือบุคคลผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า-ออกบวช มีคำศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “มหาภินิกฺขมน” > มหาภิเนษกรมณ์ เพราะเป็นการออกบวชเพื่อบำเพ็ญประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่มวลมนุษยชาติ
“มหาภิเนษกรมณ์” เป็นคำศัพท์ คำสูง ไม่ใช่ภาษาพูดตามปกติ แต่นิยมใช้ในภาษาวรรณคดี
: ออกจากบ้าน ระวังจะไปติดอยู่ในวัด
: ออกจากสมบัติ ระวังจะไปติดอยู่ในนิพพาน
16-8-59