บาลีวันละคำ

อริยสัจ (บาลีวันละคำ 3,329)

อริยสัจ

ที่มาของ ทุ.ส.นิ.ม.

อ่านว่า อะ-ริ-ยะ-สัด

ประกอบด้วยคำว่า อริย + สัจ 

(๑) “อริย” 

อ่านว่า อะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อรห = “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”, แปลง ที่ และ เป็น อิย

: (อร + อห = ) อรห : อห > อิย : อร + อิย = อริย แปลเท่ากับคำว่า “อรห” คือ “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส

(2) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม

: อรฺ + อิ = อริ + ณฺย > = อริย แปลว่า “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล

(3) อารก = “ผู้ไกลจากกิเลส”, แปลง อารก เป็น อริย แปลเท่ากับคำว่า “อารก” คือ “ผู้ไกลจากกิเลส

(4) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม [เหมือน (2)] แปลว่า “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าถึง

(5) อริย = “ผลอันประเสริฐ” + ปัจจัย, ลบ  

: อริย + = อริยณ > อริย แปลว่า “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ

สรุปว่า “อริย” แปลว่า –

(1) ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส

(2) ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล

(3) ผู้ไกลจากกิเลส

(4) ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้

(5) ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายของ “อริย” ไว้ดังนี้ –

๑ ทางเชื้อชาติ: หมายถึง ชาติอารยัน (racial: Aryan)

๒ ทางสังคม: หมายถึง ผู้ดี, เด่น, อริยชาติ, สกุลสูง (social: noble, distinguished, of high birth)

๓ ทางจริยศาสตร์: หมายถึง ถูกต้อง, ดี, ดีเลิศ (ethical: right, good, ideal)

บาลี “อริย” สันสกฤตเป็น “อารฺย” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อารฺยฺย” และ “อารฺย” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อารฺยฺย, อารฺย : (คำวิเศษณ์) ควรเคารพ, ควรบูชา; ควร; พึงแสวงหา, พึงได้; respectable, venerable; proper; to be sought, to be obtained; – (คำนาม) เจ้าของ; พระนามของพระพุทธเจ้า; สหาย; นามของปารวตี; an owner; name of Buddha; a friend; name of Pārvati.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อริย-, อริยะ : (คำนาม) ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล. (คำวิเศษณ์) เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ.

(2) อารย-, อารยะ : (คำวิเศษณ์) เจริญ. (ส.; ป. อริย).

(๒) “สัจ” 

กรณีที่อยู่ท้ายคำอ่านว่า สัด บาลีเป็น “สจฺจ” อ่านว่า สัด-จะ รากศัพท์มาจาก –

(1) (แทนศัพท์ว่า “สนฺต” = สัตบุรุษ, คนดี) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, แปลง ภู เป็น

: + ภู > = สจ + = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีในคนดีทั้งหลาย” (สัจจะจึงต้องเป็นไปในทางดี) 

(2) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ส)-รฺ (สรฺ > ), ซ้อน จฺ

: สรฺ > + จฺ + = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนทุกข์” (สัจจะจึงต้องใช้เพื่อแก้ทุกข์ คือแก้ปัญหา)

สจฺจ” เป็นคำนาม แปลว่า ความจริง (the truth), การยืนยันแน่นอน (a solemn asseveration) เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จริง, แท้ (real, true)

ในทางธรรม “สจฺจ” ยังหมายถึง พระนิพพาน โดยนัยว่า เพราะไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นเหตุสิ้นราคะ หรือเพราะนับเนื่องในสัจจะสี่

บาลี “สจฺจ” สันสกฤตเป็น “สตฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) สตฺย : (คุณศัพท์) ‘สัตย์’ จริง, มีสัตย์; วิศุทธ์, สุจจริต, ศุทธมติ, หรือกล่าวความจริง; true; sincere, honest, speaking the truth.

(2) สตฺย : (คำนาม) ‘สัตย์’ ความจริง; ประติชญาหรือคำศบถ; การกล่าวความจริง; ความวิศุทธิหรือความจริงใจ true; an oath; speaking the truth; sincerely, or veracity.

สจฺจ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “สัจ” กรณีอยู่คำเดียวคงรูปเป็น “สัจจะ” ก็ใช้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) สัจ, สัจ-, สัจจะ : (คำนาม) ความจริง, ความจริงใจ, เช่น ทำงานร่วมกันต้องมีสัจจะต่อกัน. (ป. สจฺจ; ส. สตฺย).

(2) สัตย-, สัตย์ : (คำนาม) ความจริง เช่น รักษาสัตย์, คำมั่นสัญญา, เช่น เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ลูกเสือให้สัตย์ปฏิญาณ.(คำวิเศษณ์) จริง เช่น วาจาสัตย์, มักใช้เข้าคู่กับคำอื่น เช่น สัตย์ซื่อ ซื่อสัตย์ สัตย์จริง. (ส.; ป. สจฺจ).

อริย + สจฺจ = อริยสจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “ความจริงอย่างประเสริฐ” หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ, อริยสัจ (a standard truth, an established fact)

อริยสจฺจ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อริยสัจ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อริยสัจ : (คำนาม) ความจริงของพระอริยะ, ความจริงอันประเสริฐ; ชื่อธรรมสําคัญหมวดหนึ่งในพระพุทธศาสนา มี ๔ ข้อ คือ ๑. ทุกข์ ๒. ทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์) ๓. ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) และ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือ มรรค (ทางแห่งความดับทุกข์). (ป. อริยสจฺจ).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อริยสัจ” ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

อริยสัจ : ความจริงอย่างประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำคนให้เป็นพระอริยะ มี ๔ อย่าง คือ ทุกข์ (หรือ ทุกขสัจจะ) สมุทัย (หรือ สมุทัยสัจจะ) นิโรธ (หรือ นิโรธสัจจะ) มรรค (หรือ มัคคสัจจะ) เรียกเต็มว่า ทุกข-[อริยสัจจ์] ทุกขสมุทัย[อริยสัจจ์] ทุกขนิโรธ[อริยสัจจ์] และ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา[อริยสัจจ์]

…………..

ขยายความ :

อริยสัจ” เป็นหลักธรรมที่ปรากฏอยู่ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรอันเป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นครั้งแรกแก่กลุ่มนักบวชปัญจวัคคีย์ ที่อิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอาสาฬหะ และเพราะเป็นการแสดงธรรมครั้งแรกหลังจากได้ตรัสรู้ ธัมมจักกัปปวัตนสูตรจึงนิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ปฐมเทศนา” 

คำที่เป็นหลักใน “อริยสัจ” ที่รู้จักกันดีคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นิยมย่อเป็น ทุ.ส.นิ.ม. (ทุ-สะ-นิ-มะ) หน่วยราชการไทยแห่งหนึ่ง คือกรมอาชีวศึกษา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) นำคำว่า ทุ.ส.นิ.ม. ไปบรรจุไว้ในตราประจำหน่วยงานด้วย แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารการศึกษาของไทยในอดีตเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของหลัก “อริยสัจ” (น่าสงสัยว่า ถ้าออกแบบตรากันใหม่ในสมัยนี้ จะมีผู้บริหารการศึกษาคิดถึงคำว่า คำว่า ทุ.ส.นิ.ม. กันบ้างหรือไม่)

หลักที่ควรเข้าใจใน “อริยสัจ” ที่คนส่วนมากมักมองข้าม จึงเป็นเหตุให้ปฏิบัติต่อ “อริยสัจ” คลาดเคลื่อน ก็คือ จะปฏิบัติอย่างไรต่ออริยสัจ 

อริยสัจ 4 คือ – 

(1) ทุกข์ เช่นเกิด แก่ ตาย หรือ “ปัญหา” ทั้งปวง

(2) สมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด

(3) นิโรธ ความดับทุกข์ 

(4) มรรค หนทางดำเนินให้ถึงความดับทุกข์

วิธีปฏิบัติ ต้องใช้ “ญาณ” คือหลักความรู้ 3 อย่างเป็นเกณฑ์กำหนดสิ่งที่พึงปฏิบัติในอริยสัจแต่ละข้อ ดังนี้ – 

สัจญาณ (สัด-จะ-) = รู้ว่าอะไรเป็นความจริง

กิจญาณ (กิด-จะ-) = รู้ว่าควรทำอะไร

กตญาณ (กะ-ตะ-) = รู้ว่าทำสำเร็จแล้วหรือยัง

วิธีปฏิบัติ :

(1) ทุกข์ 

หน้าที่ของ “สัจญาณ” คือ ยอมรับว่าเรื่องที่เป็นทุกข์เป็นปัญหานั้นเกิดมีอยู่จริง ถ้าไม่ยอมรับว่ามีปัญหาอยู่จริง ความคิดที่จะแก้ปัญหาก็จะไม่มี

หน้าที่ของ “กิจญาณ” คือ รู้ว่าจะต้องศึกษาข้อเท็จจริงของปัญหาและทำความเข้าใจให้ตรงกับความเป็นจริง

หน้าที่ของ “กตญาณ” คือ รู้ว่าได้ศึกษากำหนดรู้ข้อเท็จจริงนั้นสำเร็จแล้ว มิใช่แค่รู้ว่าจะต้องทำ แต่ยังไม่ได้ทำ

(2) สมุทัย

หน้าที่ของ “สัจญาณ” คือ กำหนดรู้ได้ว่า สิ่งนั้นแน่ๆ ที่เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ไม่ใช่สิ่งอื่น

หน้าที่ของ “กิจญาณ” คือ รู้ว่าจะต้องลดเลิกละสาเหตุนั้นๆ ให้ได้ ต้องกำจัดปัดเป่าออกไปเสียให้ได้

หน้าที่ของ “กตญาณ” คือ รู้ว่าได้กำจัดปัดเป่าสาเหตุแห่งทุกข์ออกไปสำเร็จแล้ว ถ้ายังไม่ได้ทำหรือยังทำไม่สำเร็จจะเกิดความรู้เช่นนี้ขึ้นมาไม่ได้

(3) นิโรธ

หน้าที่ของ “สัจญาณ” คือ กำหนดรู้ความจริงว่า เรื่องที่เป็นทุกข์เป็นปัญหานั้นแก้ไขได้ ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไม่ได้

หน้าที่ของ “กิจญาณ” คือ กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องทำให้ได้ผลเช่นไร ไม่ใช่ทำไปอย่างพร่ามัว ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร

หน้าที่ของ “กตญาณ” คือ รู้ว่ากำหนดเป้าหมายได้ชัดเจนลงตัวแน่นอนแล้ว ไม่ใช่ยังพร่ามัวอยู่ไม่รู้จะไปทางไหน

(4) มรรค

หน้าที่ของ “สัจญาณ” คือ รู้ชัดประจักษ์ใจว่า หนทางนี้แน่นอนที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ได้จริง ไม่ลังเลสงสัยใดๆ

หน้าที่ของ “กิจญาณ” คือ รู้แน่ชัดว่าจะต้องปฏิบัติดำเนินเช่นไรจึงจะดับทุกข์ได้

หน้าที่ของ “กตญาณ” คือ รู้เห็นผลชัดแจ้งว่าได้ลงมือดำเนินไปตามลำดับจนบรรลุปลายทางแล้ว ไม่ใช่แค่รู้ว่าควรดำเนิน แต่ยังไม่ได้ดำเนิน

…………..

อริยสัจ” บาลีวันละคำวันนี้ต่างเครื่องบูชาในวันอาสาฬบูชา

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านจะเอาแบบไหน?

: เรียนธรรมที่ไทยเพียรอธิบายให้ไทยฟัง

: ฤๅจะต้องรอให้ฝรั่งมาอธิบาย?

#บาลีวันละคำ (3,329)

24-7-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *