ผลิตภัณฑ์ (บาลีวันละคำ 2,157)
ผลิตภัณฑ์
อ่านว่า ผะ-หฺลิด-ตะ-พัน
ประกอบด้วยคำว่า ผลิต + ภัณฑ์
(๑) “ผลิต”
บาลีอ่านว่า ผะ-ลิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, ทำลาย, ผ่า, แตก, บาน, แผ่ไป) + อิ อาคม + ต ปัจจัย
: ผลฺ + อิ + ต = ผลิต แปลตามศัพท์ว่า “ถูกทำให้สำเร็จ” “ถูกทำให้แตกออกไป”
“ผลิต” ในบาลีเป็นคำกริยาและเป็นคุณศัพท์ ใช้ในความหมายดังนี้ :
(1) แตก (broken) เช่น หทยํ ผลิตํ = อกแตก (his heart broke) หทเยน ผลิเตน = มีหทัยแตกสลาย (with broken heart)
(2) ออกผล, มีผล, เต็มไปด้วยผล (เกี่ยวกับต้นไม้) (fruit bearing, having fruit, covered with fruit [of trees])
(3) ออกดอก, (ดอกไม้) บาน (blossoming, in blossom)
(4) ผมหงอก (grey-haired) (“ผลิต” ที่หมายถึงผมหงอกนี้ นักภาษาว่าเพี้ยนมาจาก “ปลิต” เป็นไปตามธรรมชาติการออกเสียง ป ผ พ ที่เสียงกลายแทนกันได้)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ผลิต : (คำกริยา) ทําให้เกิดมีขึ้นตามที่ต้องการด้วยอาศัยแรงงานหรือเครื่องจักรเป็นต้น เช่น ผลิตข้าว ผลิตรถยนต์ ผลิตครู ผลิตบัณฑิต. (ป.).”
ในภาษาไทย คำว่า “ผลิต” ถ้ามีคำมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ผะ-หฺลิด-ตะ- (ต่อด้วยคำนั้นๆ)
(๒) “ภัณฑ์”
บาลีเป็น “ภณฺฑ” (พัน-ดะ) รากศัพท์มาจาก ภฑิ (ธาตุ = ห่อ, เก็บ) + ก ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ภฑิ > ภํฑิ) แล้วแปลงเป็น ณ, ลบ ก และสระที่สุดธาตุ
: ภฑิ > ภํฑิ > ภณฺฑิ + ก = ภณฺฑิก > ภณฺฑิ > ภณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลพึงห่อเก็บ” เดิมหมายถึงสิ่งซึ่งสามารถห่อแล้วเก็บไว้ได้ ต่อมาความหมายขยายไปถึงสิ่งของทั่วไป
“ภณฺฑ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง (1) ของค้าขาย; สินค้า, สิ่งของ, ทรัพย์สมบัติ (stock in trade; collectively goods, wares, property, possessions) (2) เครื่องใช้, วัตถุ, เครื่องมือ (implement, article, instrument)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัณฑ-, ภัณฑ์ : (คำนาม) สิ่งของ, เครื่องใช้. (ป.; ส. ภาณฺฑ).”
ผลิต + ภัณฑ์ = ผลิตภัณฑ์ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งของอันแตกออกมา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้สั้นๆว่า –
“ผลิตภัณฑ์ : (คำนาม) สิ่งที่ทําขึ้น.”
อภิปราย :
“ผลิตภัณฑ์” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า product
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล product เป็นบาลีดังนี้ –
(1) uppannavatthu อุปฺปนฺนวตฺถุ (อุบ-ปัน-นะ-วัด-ถุ) = สิ่งที่เกิดขึ้น
(2) sampāditabbaṇḍa สมฺปาทิตภณฺฑ (สำ-ปา-ทิ-ตะ-พัน-ดะ) = สิ่งของที่ถูกทำให้มีขึ้น
(3) phala ผล (ผะ-ละ) = “สิ่งที่แตกออกมา”, ผล
(4) vipāka วิปาก (วิ-ปา-กะ) = “ผลที่สุกงอม”, ผลที่เกิดขึ้น
มีคำที่ใกล้กับ “ผลิตภัณฑ์” ของเราคำเดียวคือ “สมฺปาทิตภณฺฑ” ถ้าเขียนแบบไทยก็เป็น “สัมปาทิตภัณฑ์” (สำ-ปา-ทิ-ตะ-พัน) รูปคำรุงรังกว่า แต่ความหมายชัดเจนกว่า
คำว่า “ผลิตภัณฑ์” ไม่มีปัญหาเรื่องเข้าใจความหมาย แต่มีปัญหาเรื่องการออกเสียง คือ “คนรักง่าย” ชอบออกเสียงคำนี้ว่า ผะ-หฺลิด-พัน บางทีก็รวบคำเป็น ผฺลิด-พัน เสียด้วย
โปรดทราบว่า “ผลิตภัณฑ์” เป็นคำสมาส ต้องอ่านอย่างมี “ลูกเก็บ” คือ ผะ-หฺลิด-ตะ-พัน เพิ่ม -ตะ- เข้ามาอีกพยางค์หนึ่ง ไม่เสียเวลาแต่ประการใด แต่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความงดงามของภาษา
อนึ่ง “ผลิต” ไม่ใช่คำควบกล้ำ ผ–ล– แยกพยางค์เป็น ผะ-หฺลิด- ไม่ใช่ ผ ควบ ล เป็น ผฺลิด- ใครอ่านควบเป็น ผฺลิด-พัน ก็คือผิดซ้ำสอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ.
(จิตตวรรค ธรรมบท 25/13)
: ความสุขก็เหมือนกับผลิตภัณฑ์
: เราสามารถผลิตได้เองทุกวันด้วยจิตที่ฝึกดีแล้ว
#บาลีวันละคำ (2,157)
9-5-61