ศิลปศาสตร์ (บาลีวันละคำ 228)
ศิลปศาสตร์
อ่านว่า สิน-ละ-ปะ-สาด
“ศิลปศาสตร์” คือประมวลวิชาความรู้ต่างๆ อันได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยโบราณก่อนพุทธกาล กำหนดกันว่ามี 18 สาขา
จำนวน 18 นั้นมีหลายแบบ ขอยกมาดูกันแบบหนึ่งจากคัมภีร์โลกนิติและธรรมนิติ ได้แก่ –
1. สุติ – ความรู้ทั่วไป (สังคมศาสตร์)
2. สัมมุติ – ความรู้กฎธรรมเนียม (นิติศาสตร์)
3. สังขยา – วิชาคำนวณ (คณิตศาสตร์)
4. โยคา – การช่างการยนตร์ (วิศวกรรมศาสตร์)
5. นีติ – วิชาปกครอง (คือความหมายเดิมของ นิติศาสตร์ ปัจจุบันเท่ากับ รัฐศาสตร์)
6. วิเสสิกา – ความรู้การอันให้เกิดมงคล (โหราศาสตร์)
7. คันธัพพา – วิชาร้องรำ (ดุริยางคศาสตร์-นาฏศิลป์)
8. คณิกา – วิชาบริหารร่างกาย (พลศึกษา-สุขศึกษา)
9. ธนุพเพธา (หรือ ธนุพเพทา) – วิชายิงธนู (วิชาการอาวุธ รวมไปถึงศิลปะในการบังคับขับขี่พาหนะ)
10. ปูรณา – วิชาบูรณะ (สถาปัตยกรรมศาสตร์)
11. ติกิจฉา -วิชาบำบัดโรค (แพทยศาสตร์)
12. อิติหาส – ตำนาน (โบราณคดี-ประวัติศาสตร์)
13. โชติ – ความรู้เรื่องสิ่งส่องสว่างในท้องฟ้า (ดาราศาสตร์)
14. มายา – ตำราพิชัยสงคราม (ยุทธศาสตร์)
15. ฉันทสา – วิชาประพันธ์ (ประพันธศาสตร์)
16. เกตุ – วิชาพูด (วาทศิลป์-นิเทศศาสตร์))
17. มันตา – วิชาเวทมนตร์ (ไสยศาสตร์)
18. สัททา – วิชาหลักภาษาหรือไวยากรณ์ (นิรุกติศาสตร์-อักษรศาสตร์)
: ถ้าคิดว่า คนโบราณไม่ทันโลกของเรา
ก็อย่าลืมคิดต่อไปอีกนิดหนึ่งว่า เราเองก็ไม่ทันโลกของท่านเหมือนกัน
บาลีวันละคำ (228)
23-12-55