บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ขอขมากรรม

ขอขมากรรม

————–

คือทำผิดแล้วไม่รับผิด

คำว่า “ขอขมากรรม” เป็นคำที่คนสมัยนี้นิยมพูดกันมาก หมายความว่า ขอให้กรรมยกโทษให้ คือตั้งความรู้สึกเสมือนว่า “กรรม” คือความดีความชั่วที่ตนทำลงไปแล้วนั้นเป็น “บุคคล” มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก และพูดคุยกันรู้เรื่อง 

ใครที่เชื่อหรือรู้สึกว่าตนได้ทำกรรมไม่ดีไว้ และไม่ปรารถนาจะให้ผลของกรรมไม่ดีนั้นเกิดขึ้นแก่ตน ก็ตั้งความรู้สึกว่ากรรมนั้นมีชีวิตและสามารถขอร้องให้ยกโทษได้

กับอีกนัยหนึ่ง เข้าใจไปว่า มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์คอยควบคุมดูแลให้กรรมที่บุคคลทำลงไปแล้วคอยส่งผลให้แก่ผู้ทำ ผู้ทำกรรมจึงขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์นั้นขอให้ช่วยดูแลบังคับควบคุมอย่าให้ผลกรรมนั้นเกิดขึ้นแก่ตน หรือหากจะเกิดก็ขอให้เกิดแต่น้อยๆ พอทนได้ อย่าให้รุนแรงนัก

เมื่อเชื่ออย่างนี้ ก็พากันทำพิธีตามที่เจ้าพิธีกำหนดขึ้น หรือตามที่ตัวเองเชื่อ แล้วเรียกการกระทำเช่นนั้นว่า “ขอขมากรรม” 

ขอยกตัวอย่างคำขอขมากรรมมาให้ดูกันสักสำนวนหนึ่ง ดังนี้ 

…………………………..

ข้าพเจ้า….ขอขมากรรม หากกรรมใดที่ข้าพเจ้า….ได้กระทำแล้ว พลาดผิดด้วยกาย วาจา และด้วยใจ ตั้งแต่อดีตชาติเป็นต้นมา จวบจนในวันนี้ ทั้งที่ข้าพเจ้า….ตั้งใจก็ดี มิได้ตั้งใจก็ดี ทั้งที่ข้าพเจ้า….ระลึกได้ก็ดี ระลึกไม่ได้ก็ดี ทั้งที่ข้าพเจ้า….รู้เท่าถึงการณ์ก็ดีและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี ขอทุกๆ พระองค์จงโปรดเมตตาอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า….ด้วยเทอญ

…………………………..

ลองพิจารณาสำนวนคำขอขมากรรมดู ก็จะเห็นว่าความมุ่งหมายก็คือ “ทำเหตุลงไปแล้ว ขออย่าให้ได้รับผล” นั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดหลักเหตุผล และผิดหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง

ลองนึกถึงข้อเท็จจริงต่อไปนี้ 

เราปลูกมะม่วง รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดโรค กำจัดแมลง ดูแลรักษาอย่างดี ถึงเวลามะม่วงตกลูก เราไปอ้อนวอนมะม่วงว่า มะม่วงเอ๋ย อย่าออกดอกออกผลเลย 

จะสำเร็จตามคำอ้อนวอนหรือไม่?

จำเลยทำผิดกฎหมาย ความผิดครบองค์ประกอบ ศาลตัดสินลงโทษ จำเลยอ้อนวอนต่อศาลว่าขออย่าให้ลงโทษเลย

จะสำเร็จตามคำอ้อนวอนหรือไม่?

กรณีศาลจะตัดสินไม่ลงโทษ ก็ต้องเข้าองค์ประกอบที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าให้อยู่ในดุลพินิจของศาล แต่กฎหมายคงไม่ได้กำหนดไว้ว่า “ถ้าจำเลยขอร้องอ้อนวอนไม่ให้ลงโทษ ศาลจะไม่ลงโทษตามคำขอร้องอ้อนวอนนั้นก็ได้” ดังนี้อย่างแน่นอน

คิดได้อย่างไร-ทำเหตุแล้วขออย่าให้ได้รับผล?

หรือถามกันชัดๆ คิดอย่างไรทำผิดแล้วไม่รับผิด?

อนึ่ง ขอได้โปรดเข้าใจว่า ที่ขอขมากรรมกันนั้น ขอขมาเฉพาะกรรมชั่วเท่านั้น ถ้าเป็นกรรมดี ให้ผลเป็นความดีความสุขความเจริญ นอกจากจะไม่ขอขมาแล้ว มีแต่จะยิ่งเร่งทวงให้เกิดผลเร็วๆ อีกด้วย

เห็นความไม่รับผิดชอบและความเห็นแก่ตัวของลัทธิขอขมากรรมหรือไม่

วิธีที่จะไม่ให้มะม่วงตกลูกก็คืออย่าปลูกมะม่วง หรือถ้าวิทยาศาสตร์การเกษตรมีวิธีปลูกมะม่วงโดยไม่ให้มะม่วงตกลูก คนปลูกมะม่วงก็ต้องทำตามวิธีนั้น แต่ย่อมจะไม่ใช่-ด้วยการขอร้องอ้อนวอนอย่างแน่นอน (แล้วก็ถ้าปลูกมะม่วง แต่ไม่ต้องการให้มีลูก แล้วจะปลูกทำไม?!)

วิธีที่จะไม่ให้ศาลตัดสินลงโทษก็คือ อย่าไปกระทำความคิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด (และแม้จะไม่ได้กระทำความผิดก็ยังต้องระวังไม่ให้ถูกฟ้องร้องกล่าวหา เพราะกระบวนการพิจารณาคดีของศาลตัดสินกันด้วยพยานหลักฐาน นั่นคือสามารถสร้างพยานหลักฐานเท็จให้ศาลเชื่อได้ และกรณีศาลตัดสินลงโทษคนบริสุทธิ์ก็เคยเกิดขึ้นจริงๆ มาแล้ว – ต้องพูดไว้ก่อน เพราะอาจมีผู้แย้งว่าแม้ไม่ได้ทำความผิด ศาลก็อาจตัดสินลงโทษได้)

ถ้าศึกษาเรื่อง “กรรม” ตามแนวคำสอนในพระพุทธศาสนา ก็จะรู้หลักความจริงว่า กรรมไม่ใช่ “บุคคล” และไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนมาคอยควบคุมการให้ผลของกรรม แต่ผลของกรรมย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวกรรมนั้นเอง

ในบรรดากรรมที่ท่านสอนไว้ มีกรรมอย่างหนึ่งเรียกว่า “อโหสิกรรม” หมายถึง กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก (lapsed or defunct kamma) 

บางทีการขอขมากรรมอาจจะเกิดจากการเข้าใจผิด หรือมีผู้ชักจูงให้เข้าใจผิดไปว่า กรรมที่ทำลงไปนั้นผู้ทำสามารถจัดการให้กลายเป็น “อโหสิกรรม” ได้ 

พึงศึกษาให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า การที่กรรมจะกลายเป็น “อโหสิกรรม” คือเลิกให้ผลนั้นก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่นั่นเอง และในบรรดาเหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อไหนที่บอกว่า ถ้าทำพิธี “ขอขมากรรม” กรรมนั้นก็จะเป็นอโหสิกรรม คือเลิกให้ผลตามที่ผู้ทำพิธีต้องการได้

…………..

ทำผิดลงไปแล้ว ไม่ว่าจะในชาติก่อนหรือชาตินี้ ทางที่ดีที่สุดคือเตรียมตัวเตรียมใจรับผล เตรียมให้ดีที่สุด ให้พร้อมที่สุด โดยไม่บ่ายเบี่ยงบิดพลิ้ว

พร้อมกันนั้นเองก็อย่าทำชั่วทำผิดใดๆ อีก 

ชั่ว-ผิดคืออะไรอย่างไร ทุกคนรู้จักดี ถ้าไม่ได้รับการสั่งสอนจากพระศาสนา วัฒนธรรมของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ก็ย่อมจะสั่งสอนอยู่ในตัว

หน้าที่สำคัญคือฝึกใจห้ามใจอย่าทำ ถ้ายังไม่เคยฝึก จงเริ่มฝึกตั้งแต่เดี๋ยวนี้ 

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถฝึกได้

ฝึก จึงจะประเสริฐ 

ไม่ฝึก ไม่ประเสริฐ ใช่-ไม่ประเสริฐไปกว่าสัตว์!

ทุกครั้งที่ทำหรือคิดจะทำพิธีขอขมากรรม หรือจะกล่าวคำขอขมากรรม ให้ถามตัวเองว่า-นี่เรากลายเป็นคนไม่รับผิดชอบไปแล้วหรือ?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๔:๔๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *