คาถาบูชาหลวงพ่อโต (บาลีวันละคำ 3,338)
คาถาบูชาหลวงพ่อโต
ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าไปไหว้พระตามวัดต่างๆ เป็นประจำ ได้เห็น “คาถาบูชาหลวงพ่อโต” ที่วัดแห่งหนึ่ง ข้อความดังนี้ –
…………..
โตเสนโต วะระธัมเมนะ
โตสัฏฐาเน สิเว วะเร
โตสัง อะกาสิ ชันตูนัง
โตสะจิตตัง นะมามิหัง.
…………..
ข้อความที่เป็น “คาถาบูชาหลวงพ่อโต” นี้เป็นบทหนึ่งในบทร้อยกรองภาษาบาลีที่เรียกกันว่า “อิติปิโสรัตนมาลา”
“อิติปิโสรัตนมาลา” เป็นวรรณกรรมบาลีที่เอาบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยที่ขึ้นต้นว่า “อิติปิ โส ภควา …” จนถึง “… โลกสฺสาติ” มากระจายเป็นคำๆ แล้วใช้คำนั้นๆ เป็นพยางค์แรกในบทร้อยกรองแต่ละวรรค
อย่างใน “คาถาบูชาหลวงพ่อโต” นี้จะเห็นว่าทุกวรรคขึ้นต้นด้วยคำว่า “โต” ทั้งนี้เพราะท่านแต่งมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ อิ-ติ-ปิ-โส- จนถึงคำว่า “สุคโต” (อยู่ในห้องพุทธคุณ) “สุ” ก็แต่งไป 4 วรรค ขึ้นด้วยด้วย “สุ” ทุกวรรค “ค” ก็แต่งไป 4 วรรค ขึ้นด้วยด้วย “ค” ทุกวรรค ครั้นมาถึง “โต” ท่านก็แต่ง 4 วรรค ขึ้นด้วยด้วย “โต” ทุกวรรคดังที่เห็นนั้น “อิติปิโสรัตนมาลา” จะแต่งแบบนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ
ทำไมจึงเอาบทที่ขึ้นต้นด้วย “โต” มาเป็น “คาถาบูชาหลวงพ่อโต”?
คงเดาได้ไม่ยาก นั่นก็คือ ผู้เลือกหาคำบูชาเห็นว่า คาถาบทนี้ขึ้นต้นด้วย “โต” ตรงกับชื่อพระพุทธปฏิมาที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “หลวงพ่อโต” จึงเอาเสียง “โต” ในคำบาลีมาเป็นคำบูชาเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อ “หลวงพ่อโต”
โปรดทราบว่า คำว่า “โต” ที่เป็นพยางค์แรกในคาถานั้น แต่ละคำไม่ได้มีความหมายสอดคล้องกับคำว่า “โต” ที่เป็นชื่อพระพุทธปฏิมาแต่ประการใดทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่เราเอาเสียงของคำมาใส่จินตนาการเอาเองโดยแท้
แต่แม้กระนั้น มองในแง่ดีก็ยังเป็นผลดีได้อยู่ นั่นคือ เพราะอาศัยนามพระพุทธปฏิมาในภาษาไทยเป็นสื่อให้น้อมนึกถึงคุณพระรัตนตรัยในคำบาลี นับว่าได้เจริญพุทธานุสติภาวนาเป็นการปฏิบัติธรรมได้วิธีหนึ่ง
ถ้าผู้ไปไหว้หลวงพ่อโตและได้อ่านคำบูชาแล้วน้อมนึกอย่างนี้ ก็เป็นมหากุศล
“คาถาบูชาหลวงพ่อโต” หรือ “อิติปิโสรัตนมาลา” บทที่ขึ้นต้นว่า “โต” เขียนแบบบาลีและแปลเป็นไทยดังนี้ –
…………..
โตเสนฺโต วรธมฺเมน
โตสฏฺฐาเน สิเว วเร
โตสํ อกาสิ ชนฺตูนํ
โตสจิตฺตํ นมามิหํ.
พระพุทธเจ้าพระองค์ใด
ทรงโปรดสัตว์ให้แช่มชื่นด้วยพระธรรมอันประเสริฐ
ทรงก่อความยินดีในพระนิพพานอันประเสริฐเป็นฐานที่ควรยินดี
ให้เกิดมีแก่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้มีพระทัยชื่นบาน
…………..
หมายเหตุ :
(๑) อิติปิโสรัตนมาลาที่เผยแพร่กันทั่วไปบางฉบับ-หลายฉบับ ตรงคำว่า “โตสจิตฺตํ” เป็น “โตลจิตฺตํ” คือเป็น “โตล-” ล ลิง ไม่ใช่ “โตส-” ส เสือ
พิจารณาลีลาภาษาแล้ว “โตส-” เหมาะสมกว่า สอดคล้องกับ 3 วรรคที่ใช้คำว่า “โตส” เหมือนกัน
“โตส” แปลตรงศัพท์ว่า “ยินดี” ยักเยื้องออกไปเป็น “ชื่นบาน” “แช่มชื่น” ส่วน “โตล-” แม้จะมีผู้แปลว่า “เที่ยงตรง” (แผลงมาจาก “ตุล” หรือเราคุ้นกันในคำว่า “ตุลา” ที่แปลว่าคันชั่ง) แต่ความก็ไม่เข้ากัน
เห็นได้ชัดว่า “โตส” นั่นเองเขียนผิดเป็น “โตล”
(๒) ดูตามภาพประกอบ (ภาพที่ 3 และ 4) จะเห็นว่า คำว่า “อกาสิ” เขียนผิดเป็น “อภาสิ” –กา– ก ไก่ เขียนผิดเป็น –ภา– ภ สำเภา นี่ก็เดาได้ไม่ยาก ก ไก่ กับ ภ สำเภา โครงรูปเหมือนกัน ต่างกันที่มีหัวกับไม่มีหัว คนเห็น ก ไก่ เข้าใจว่าเป็น ภ สำเภา
“อกาสิ” แปลว่า “ได้ทำแล้ว”
“อภาสิ” แปลว่า “ได้กล่าวแล้ว”
ความหมายไกลกันเป็นคนละเรื่อง (อาจมีผู้พยายามหาทางแปลให้ได้ความ คือพยายามอธิบายผิดให้เป็นถูก)
ทำนองเดียวกับเห็น ส เสือ เป็น ล ลิง
“โตส” = ยินดี จึงกลายเป็น “โตล” = เที่ยงตรง
(๓) แต่ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษก็คือ ป้ายคำบูชาที่เป็น “อกาสิ” (ถูก) กับที่เป็น “อภาสิ” (ผิด) เป็นป้ายคำบูชาพระพุทธปฏิมาองค์เดียวกันและตั้งอยู่ใกล้ๆ กันนั่นเอง
ผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้รู้หรือไม่ และคิดอย่างไร
เราท่านที่เห็นกรณีเช่นนี้แล้วคิดอย่างไร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา
: แต่การไม่ยอมแก้ไขข้อผิดพลาดเป็นเรื่องไม่ธรรมดา
#บาลีวันละคำ (3,338)
2-8-64