บาลีวันละคำ

-ปรม มีขีดหน้า (บาลีวันละคำ 3,339)

ปรม มีขีดหน้า

เรียนบาลีแบบจำเป็นคำๆ

“-ปรม” = ปะ-ระ-มะ มีขีดหน้า

ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ แปลว่า “อย่างยิ่ง” ในที่นี้หมายถึง “มี-เป็นอย่างยิ่ง” มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง ก็ดูที่คำที่อยู่ข้างหน้า “-ปรม

“-ปรม” มีขีดหน้า หมายถึง มีคำอื่นมาสมาสข้างหน้า เขียนติดเป็นคำเดียวกันกับ “-ปรม” เช่น –

(1) “อาโรคฺยปรมา  ลาภา” แปลตามสำนวนบาลีว่า “ลาภมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง” 

เอาสิ่งที่ถือว่าเป็น “ลาภ” มาประกวดกัน “ความไม่มีโรค” ชนะเลิศ เพราะความไม่มีโรคเป็นบรมลาภหรือเป็นยอดแห่งลาภ = ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง พูดสำนวนบาลีว่า “ลาภมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง” 

(2) “สนฺตุฏฺฐีปรมํ  ธนํ” แปลตามสำนวนบาลีว่า “ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง” 

เอาสิ่งที่ถือว่าเป็น “ทรัพย์” มาประกวดกัน “ความสันโดษ” ชนะเลิศ เพราะความสันโดษเป็นบรมทรัพย์หรือเป็นยอดแห่งทรัพย์ = ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง พูดสำนวนบาลีว่า “ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง” 

(3) “วิสฺสาสปรมา  ญาตี” แปลตามสำนวนบาลีว่า “ญาติมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง” 

เอาสิ่งที่ถือว่าเป็น “ญาติ” มาประกวดกัน “ความคุ้นเคย” ชนะเลิศ เพราะความคุ้นเคยเป็นบรมญาติหรือเป็นยอดแห่งญาติ = ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง พูดสำนวนบาลีว่า “ญาติมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง” 

(4) “นิพฺพานปรมํ  สุขํ” แปลตามสำนวนบาลีว่า “สุขมีพระนิพพานเป็นอย่างยิ่ง” 

เอาสิ่งที่ถือว่าเป็น “สุข” มาประกวดกัน “พระนิพพาน” ชนะเลิศ เพราะพระนิพพานเป็นบรมสุขหรือเป็นยอดแห่งสุข = พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง พูดสำนวนบาลีว่า “สุขมีพระนิพพานเป็นอย่างยิ่ง” 

โปรดสังเกต คำที่อยู่หน้า “ปรม” เขียนติดเป็นคำเดียวกับ “ปรม” ทุกคำ:

อาโรคฺยปรมา

สนฺตุฏฺฐีปรมํ

วิสฺสาสปรมา

นิพฺพานปรมํ

คำที่เรามักพบว่าเขียนที่ไหนผิดที่นั่นทุกครั้งไปคือ “อาโรคฺยปรมา  ลาภา” 

คำนี้คนจะเขียนเป็น “อโรคยา  ปรมา  ลาภา” ทุกที่ ทุกครั้ง 

คือไปแยก “อโรคยา” เป็นคำหนึ่ง “ปรมา” เป็นอีกคำหนึ่ง นี่คือเขียนผิดเพราะไม่เข้าใจหลักภาษา

แม้แต่เอาไปพูดก็จะพูดเป็น “อะโรคะยา ปะระมา ลาภา” แบบนี้ทุกครั้งไป นี่ก็เพราะไม่เข้าใจหลักภาษาเช่นกัน

เฉพาะ “อโรคยา  ปรมา” นี้ผิดถึง 2 ชั้น คือ –

ชั้นหนึ่ง: คำเดิม “อาโรคฺย” เอามาเขียนหรือพูดเป็น “อโรคยา” 

จาก “อา-” เป็น “-” 

จาก “-” เป็น “-ยา

ชั้นสอง: คำเดิมเขียนติดกันเป็นคำเดียวกัน คือ “อาโรคฺยปรมา” เอามาเขียนแยกเป็น 2 คำ คือเป็น “อโรคยา  ปรมา”

ปัญหาเหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจหลักภาษาบาลี ไม่เข้าใจยังพอว่า แต่แทบทั้งหมดไม่สงสัย ไม่เฉลียวใจ ไม่คิดจะเรียนรู้ และไม่คิดจะเข้าใจให้ถูกต้องใดๆ ทั้งนั้น คือไปเชื่อมั่นว่าที่เขียนอย่างนั้นที่พูดอย่างนั้นถูกต้องแล้ว

ผู้เขียนบาลีวันละคำพยายามจะช่วยแก้ทิฐิมานะตรงนี้ให้หลุดไป แต่จะได้ผลแค่ไหน ท่านผู้เขียนผู้พูดจะต้องร่วมมือด้วย ความพยายามนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าท่านผู้ที่เขียนผิดพูดผิดไม่ปรับแก้ความคิดของตัวเอง หรือไม่มีฉันทะอุตสาหะที่จะเรียนรู้รับรู้อะไรเพิ่มขึ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความจริงอาจไม่ใช่สิ่งที่เราเชื่อ

: ความเชื่อก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง

#บาลีวันละคำ (3,339)

3-8-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *