บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าปล่อยให้เป็นไปตามอัธยาศัย

อย่าปล่อยให้เป็นไปตามอัธยาศัย

———————————-

(กระตุ้นเตือนกันให้หาความรู้และให้ความรู้)

…………………………………………..

ตำแหน่งเจ้าอาวาส 

ทั้งพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ 

มีนิตยภัตหรือไม่?

…………………………………………..

ถามเพราะไม่มีความรู้ครับ ไม่ใช่เพราะไม่เคยเป็นเจ้าอาวาส

ญาติมิตรท่านใดมีความรู้เรื่องนี้ ขอความรู้ด้วยครับ

เข้าใจว่า …

เห็นเขาว่า …

แบบนี้ไม่เอานะครับ

เอาแบบชัวร์ๆ ถ้ามีกฎหมายฉบับไหนหรือระเบียบข้อไหนกำหนดไว้ ยกมาวางไว้ให้ดูด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ถามไปที่ …

แบบนี้ก็ไม่เอานะครับ

พรรคพวกผมเขาสงสัยเรื่องกฐิน ถามไปที่หน่วยราชการทางศาสนา เจ้าหน้าที่ตอบว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของเขา สวัสดี

……………….

นี่เป็นจุดอ่อนอย่างยิ่งของชาวพุทธในบ้านบ้านเรา คือ นอกจากไม่ศึกษาเรียนรู้หลักพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนาแล้ว ระเบียบปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับกิจการพระศาสนา เราก็ไม่รู้ และไม่ใส่ใจที่จะรู้ด้วย 

ข้ออ้างที่เป็นมาตรฐานคือ ไม่ใช่หน้าที่ สวัสดีอีกเหมือนกัน

ผมเคยนมัสการถามท่านเจ้าอาวาสรูปหนึ่งว่า พระคุณท่านพอจะรู้เรื่องพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๒ บ้างหรือไม่?

คงเดาได้นะครับว่าคำตอบเป็นอย่างไร

……………….

การหาความรู้และการให้ความรู้ เรามักมองกันว่าเป็นเรื่องของอัธยาศัยส่วนตัว ซึ่งก็ไม่ผิด

แต่การบริหารจัดการในระดับองค์กรส่วนรวม-เช่นพระพุทธศาสนาทั้งศาสนา-การปล่อยให้การหาความรู้และการให้ความรู้เป็นไปตามอัธยาศัยเป็นเรื่องที่ไม่ถูกอย่างยิ่ง

ก็เหมือนเวลานี้ นักเรียนบาลีจะเรียนไปให้ถึงพระไตรปิฎกหรือไม่ ควรเป็นไปตามอัธยาศัย – เราคิดกันอย่างนี้ เชื่อกันอย่างนี้ แล้วก็ปล่อยให้เป็นอย่างนี้

ผลก็คือ เรามีนักเรียนบาลีที่เรียนจบเป็นจำนวนมาก

แต่แทบจะไม่มีนักเรียนบาลีที่ตั้งใจเรียนไปถึงพระไตรปิฎก

เพียงแต่เฉลียวใจคิด-ถ้าทฤษฎี “ตามอัธยาศัย” เป็นทฤษฎีที่ถูกต้อง เราก็ไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตรการเรียนบาลี ไม่จำเป็นต้องมีสำนักเรียนบาลี ไม่จำเป็นต้องมีกองบาลีสนามหลวง 

ใครจะเรียนบาลีหรือไม่เรียนบาลี ปล่อยให้เป็นไปตามอัธยาศัย

ใครอยากเรียนก็ไปเลือกคัมภีร์ที่จะเรียนเอาเอง-ตามอัธยาศัย 

ไปกำหนดเนื้อหาที่จะเรียนเอาเอง-ตามอัธยาศัย 

ไปหาวิธีเรียนเอาเอง-ตามอัธยาศัย

และไปหาที่เรียนเอาเอง-ตามอัธยาศัย

แบบเดียวกับที่เรากำลังใช้ทฤษฎี-ใครจะเรียนไปถึงพระไตรปิฎกหรือไม่เรียน ก็-ตามอัธยาศัย

ก็ถ้าเราตั้งสำนักเรียนบาลีได้ 

กำหนดหลักสูตรการเรียนบาลีได้

กำหนดเนื้อหาการเรียนได้

กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการวัดผลได้

แม้กระทั่งกำหนดศักดิ์และสิทธิ์ของผู้เรียนจบได้ด้วย

แล้วทำไมเราจึงกำหนดการเรียนบาลีไปให้ถึงพระไตรปิฎกไม่ได้?

และใช้วิธีคิดแบบเดียวกันนั่นเอง ในเมื่อชาวพุทธทั้งชาววัดและชาวบ้านอ่อนด้อยทั้งในความรู้หลักพระธรรมวินัย ทั้งในความรู้ระเบียบปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับกิจการพระศาสนา อย่างที่กำลังเป็นอยู่

ทำไมเราจะหาวิธีทำให้ชาวพุทธเกิดอุตสาหะในการศึกษาเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ไม่ได้

มันไม่มีวิธี

หรือว่าผู้มีหน้าที่ไม่คิดจะทำ?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๑:๓๖

…………………………………………..

อย่าปล่อยให้เป็นไปตามอัธยาศัย

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *