ถวายพรพระ (๑)
ถวายพรพระ (๑)
—————-
วันนี้ (๘ สิงหาคม ๒๕๖๔) เป็นวันพระแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ผมไปทำบุญที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี ตามปกติ เสร็จกิจที่ศาลาผมก็ขึ้นไปไหว้พระบนวิหารหลวง
บนวิหารหลวงวัดมหาธาตุมักมีผู้ใจบุญเอาหนังสือสวดมนต์มาวางไว้เป็นธรรมทาน ใครศรัทธาฉบับไหนของสำนักไหนก็สามารถเอามาวางได้ คนขึ้นมาไหว้พระชอบใจฉบับไหน หยิบติดมือไปได้ตามอัธยาศัย
ปกติถ้าผมเห็นหนังสือหน้าตาแปลกๆ ก็จะเปิดดู ถ้ามีบทอะไรที่สะดุดใจก็จะถ่ายภาพไว้
วันนี้ก็เจอที่สะดุดใจ ๒ เรื่อง
เรื่องแรก คำว่า “ถวายพรพระ” หนังสือสวดมนต์ฉบับหนึ่งพิมพ์ไว้ว่า
……………………….
ถวายพรพระ (อิติปิโส)
……………………….
ถ้าเขียนอย่างนี้ ก็คือบอกว่า บท “อิติปิโส” นั่นแหละคือ “ถวายพรพระ”
โปรดทราบว่า ไม่ใช่นะครับ ผิดนะครับ อย่าจำแบบนี้นะครับ อย่าเอาไปพูดแบบนี้นะครับ อย่าเอาไปเขียนแบบนี้นะครับ
……………………….
แทรกตรงนี้นิดหนึ่ง ขอให้สังเกตด้วยว่า คำว่า “อิติปิโส” นั้นเขียนผิด คำที่ถูก คือ “อิติปิ โส” คำว่า “โส” แยกเป็นคนละคำกับ “อิติปิ”
……………………….
ลบข้อมูลที่ผิดพลาดทิ้งเสียให้หมด แล้วโปรดศึกษาข้อมูลที่ถูกต้อง
“ถวายพรพระ” คืออะไร พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ดังต่อไปนี้ –
…………..
ถวายพรพระ : (พระสงฆ์) สวดพุทธชัยมงคลคาถา (หรือชยมังคลัฏฐกคาถา) ในพิธี โดยเฉพาะก่อนเจ้าภาพถวายภัตตาหาร, เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาว่า ในงานพิธีที่มีการสวดมนต์เย็น แล้วฉันเช้า หรือฉันเพลในวันรุ่งขึ้น เมื่อจะฉันภัตตาหารเช้าหรือเพลนั้น มีการสวดถวายพรพระก่อน คือ เมื่อเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และสมาทานศีลแล้ว พระสงฆ์จะสวดถวายพรพระต่อไปเลย โดยไม่ต้องอาราธนาพระปริตร ดังนี้
๑. นมการปาฐะ (นโม ๓ จบ)
๒. พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ (อิติปิ โส ภควา ฯเปฯ อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ)
๓. บทถวายพรพระ คือชยมังคลัฏฐกคาถา (พาหุํ ฯเปฯ นโร สปญฺโญ)
๔. ชยปริตฺตคาถา (มหาการุณิโก นาโถ ฯเปฯ ลภนฺตตฺเถ ปทกฺขิเณ)
จบแล้ว สวด ภวตุ สพฺพมงคลํ ฯเปฯ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ต่อไปเลย โดยไม่ต้องหยุดขึ้นใหม่
(มักพูดให้จำกันง่ายๆ ว่า ถวายพรพระ คือสวด นโม… อิติปิ โส… พาหุํ…มหากาฯ… ภวตุ สพฺฯ…)
เมื่อสวดจบแล้ว พระสงฆ์ก็รับภัตตาหารฉันต่อไป
ที่เรียกว่า “บทถวายพรพระ” ก็คือพุทธชัยมงคลคาถา หรือ ชยมังคลัฏฐกคาถา (บางทีเรียกง่ายๆ ว่า “คาถาพาหุง”)
พึงสังเกตว่า ในการถวายพรพระตามธรรมเนียมที่กล่าวมานั้น พระสงฆ์สวดทั้งพุทธชัยมงคลคาถา (ชยมังคลัฏฐกคาถา หรือคาถาพาหุง) และต่อด้วยชยปริตตคาถา ซึ่งมีชัยมงคลคาถา (คือคาถามหาการุณิโก ซึ่งมีบท “ชยนฺโต…”).
…………..
สรุปว่า ถ้าพูดว่า “สวดถวายพรพระ” ก็คือสวด นโม… อิติปิ โส… พาหุํ…มหากาฯ… ภวตุ สพฺฯ…
รวมบทเหล่านี้เข้าด้วยกัน เรียกว่า “ถวายพรพระ”
ไม่ใช่ “อิติปิ โส” บทเดียวคือ “ถวายพรพระ”
แต่ถ้าชี้เฉพาะบทที่เป็นต้นเค้าให้เกิดคำว่า “ถวายพรพระ” ก็คือพุทธชัยมงคลคาถา หรือ ชยมังคลัฏฐกคาถา ที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “คาถาพาหุง”
ที่ถือว่า “คาถาพาหุง” เป็น “ถวายพรพระ” ก็เพราะคาถาพาหุงเป็นบทบรรยายถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ ๘ ครั้ง จึงเรียกว่า “ชยมังคลัฏฐกคาถา” แปลว่า “คาถาบรรยายชัยมงคลแปดบท”
ชัยชนะของพระพุทธเจ้านับว่าเป็นชัยมงคล ถือว่าเป็น “พร” พิเศษ “พรพระ” ก็หมายถึง “ชัยชนะของพระพุทธเจ้า” การยกเอาชัยชนะของพระพุทธเจ้าขึ้นมาสวดสาธยายจึงเรียกว่า “ถวายพรพระ”
ย้ำว่า “อิติปิ โส” ไม่ใช่ “ถวายพรพระ”
แต่รวม นโม… อิติปิ โส… พาหุํ…มหากาฯ… ภวตุ สพฺฯ… จึงจะเป็น “ถวายพรพระ”
ถ้าชี้เฉพาะบทที่เป็นต้นกำเนิด “ถวายพรพระ” ก็คือ “ชยมังคลัฏฐกคาถา” หรือ “คาถาพาหุง”
นี่เป็นเรื่องแรก ที่พูดผิดเขียนผิด ซึ่งผมขออนุญาตนำมาชี้แจง
ส่วนเรื่องที่สอง ขอยกไปเขียนเป็นอีกตอนหนึ่งครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๘ สิงหาคม ๒๕๖๔
๑๔:๑๐