บาลีวันละคำ

กลับตาลปัตร (บาลีวันละคำ 1,255)

กลับตาลปัตร

อ่านว่า กฺลับ-ตา-ละ-ปัด

กลับ” เป็นคำไทย

ตาลปัตร” เป็นบาลีสันสกฤต ประกอบด้วย ตาล + ปัตร

(๑) “ตาล

ภาษาไทยอ่านว่า ตาน (เว้นไว้แต่สมาสกับบาลีสันสกฤต เช่นในคำว่า “ตาลปัตร” นี้อ่านว่า ตา-ละ) บาลีอ่านว่า ตา-ละ รากศัพท์มาจาก ตลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (ตลฺ > ตาล)

: ตลฺ + = ตลณ > ตลฺ > ตาล แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่ตั้งอยู่” (คือยืนต้นอยู่เหมือนตั้งไว้) หมายถึง ต้นตาล

ตาล” เป็นไม้ที่เรารู้จักกันดี และคำว่า “ตาล” ก็เป็นคำที่คุ้นปากจนเราอาจจะไม่ได้นึกว่าเป็นภาษาบาลี

(๒) “ปัตร

บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) มีหลายความหมาย เฉพาะความหมายที่ประสงค์ในที่นี้ รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” หมายถึง ใบไม้

ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” คำเดียวกับที่เราใช้ในภาษาไทยว่า “บัตร” แต่ในคำนี้คงใช้เป็น “ปัตร” อ่านว่า ปัด

ตาล + ปตฺต = ตาลปตฺต > ตาลปตฺร > ตาลปัตร แปลตามศัพท์ว่า “ใบตาล” (a palm-leaf)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตาลปัตร : (คำนาม) พัดทำด้วยใบตาล มีด้ามยาว สำหรับพระภิกษุถือบังหน้าในพิธีกรรมเช่นในเวลาให้ศีล ต่อมาอนุโลมเรียกพัดที่ทำด้วยผ้าหรือไหมซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้นว่า ตาลปัตร ด้วย, ตาลิปัตร ก็ว่า. (ส. ตาลปตฺตฺร,ป. ตาลปตฺต)”

กำเนิดตาลปัตร :

ตาลปตฺต > ตาลปัตร = ใบตาล มีลักษณะแผ่ออกเป็นรูปพัด ใบอ่อนเอามาแผ่เป็นพัด ใช้พัดโบกเวลาร้อน ต่อมาคนนิยมเอาไปถวายพระ เวลาไปไหนมาไหนพระก็ถือไปด้วยเป็นอย่างบริขารพิเศษประจำตัวเพื่อฉลองศรัทธาญาติโยม

ตาลปัตรในสมัยดั้งเดิมทำด้วยใบตาลจริงๆ แม้ในเวลานี้ก็ยังพอมีให้เห็น ต่อมาอนุโลมเรียกพัดที่ทำด้วยผ้าหรือไหมซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้นว่า “ตาลปัตร” ด้วย และพัฒนารูปแบบและลวดลายกลายมาเป็นพัดยศ พัดรอง ที่พระท่านใช้ในงานพิธีต่างๆ อยู่ในปัจจุบัน

กลับตาลปัตร : เหตุที่ใช้เป็นคำเชิงสำนวน

ตาลปัตรมีสองหน้า โดยทั่วไปด้านหน้ากับด้านหลังมีรูปลายต่างกัน เมื่อตั้งตาลปัตรในพิธีกรรม ด้านหน้าหันออก ด้านหลังหันเข้าตัวผู้ถือ ด้ามตาลปัตรมีลักษณะยาวกลม เมื่อถือจึงสามารถหมุนเปลี่ยนด้านหน้า-หลังได้โดยง่าย อาการที่หมุนเปลี่ยนด้านหน้า-หลัง เรียกว่า “กลับตาลปัตร” คือกลับด้านหน้าเป็นด้านหลัง หรือกลับด้านหลังเป็นด้านหน้าตามต้องการ

และด้วยเหตุที่สามารถหมุนเปลี่ยนหน้าได้โดยง่ายเช่นนี้ ขณะที่เราเห็นด้านหนึ่งของตาลปัตรและเชื่อว่าเป็นด้านนั้น ผู้ถืออาจกลับตาลปัตรไปเป็นอีกด้านหนึ่งได้ทันทีแบบคาดไม่ถึง เราจึงเรียกเหตุการณ์หรือผลที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามจากที่เคยเป็นหรือที่เคยคาดคิดว่า “กลับตาลปัตร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กลับตาลปัตร : (คำวิเศษณ์) ผิดความคาดหมายอย่างตรงกันข้ามแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ.”

: ใจคนพลิกผันเพียงแค่เช้าชั่วค่ำ

: แต่ผลแห่งกรรมไม่มีวันกลับตาลปัตร

(ตามคำขอให้ขยายความของพระคุณท่าน Phanyasago Srikane)

5-11-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย