ปรัมปรา (บาลีวันละคำ 233)
ปรัมปรา
คำนี้บาลีเป็น “ปรมฺปรา” อ่านว่า ปะ-รำ-ปะ-รา
“ปรมฺปรา” ประกอบด้วยคำว่า ปรํ + ปรา = ปรมฺปรา
“ปรํ” (ปะ-รัง) ศัพท์เดิมคือ “ปร” (ปะ-ระ) แปลว่า อีกข้างหนึ่ง, อีกฝ่ายหนึ่ง, อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก
“ปร” แปลงเป็น “ปรํ” มีความหมายว่า ต่อไป, ห่างไป, ไกลออกไป, จาก (-นี้ไป), หลังจาก, นอกจาก (-นี้แล้ว ยังมี…), สูงกว่า, ยิ่งกว่า
“ปรา” (ปะ-รา) ก็คือ “ปร” นั่นเอง แต่เปลี่ยนรูปเป็นอิตถีลิงค์
ดังนั้น รากเดิมของ “ปรมฺปรา” ก็คือ ปร + ปร “อื่นและอื่น” นั่นเอง
ฝรั่งแปล “ปรมฺปรา” ว่า “after the other” = “หลังอีกสิ่งหนึ่ง” หมายความว่า มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น หลังจากสิ่งนั้นก็มีอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอีก แล้วก็มีอีกสิ่งหนึ่งเกิดต่อๆ กันไปอีก
“ปรมฺปรา = ปรัมปรา” จึงแปลว่า การต่อเนื่อง, ความสืบเนื่อง, เรื่องที่บอกเล่าสืบๆ กันมา, สิ่งที่ทำตามๆ กันมา
“ปรัมปรา” เป็นเหตุผลข้อหนึ่งในจำนวน 10 ข้อ ที่คนมักยกขึ้นมาอ้างเพื่อให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ = ถ้าไม่ดีจริงเขาจะทำกันมาจนถึงทุกวันนี้เรอะ !
อะไรที่เป็นปรัมปรา ทำตามๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าจะดีจริงหรือไม่ดีจริง เพียงแต่ท่านเตือนให้ระวังว่า อย่าอ้างแบบนั้น
เพราะ : ความถูกต้อง ความดีมีแก่นสาร ไม่ใช่ดูกันที่อยู่มานานเพียงอย่างเดียว
บาลีวันละคำ (233)
28-12-55