เราจะผ่านมันไปด้วยกัน
เราจะผ่านมันไปด้วยกัน
————————
ผมมีปัญหาธรรมที่ใคร่ขอแรงญาติมิตร-โดยเฉพาะญาติมิตรที่เป็นพระภิกษุสามเณร-ช่วยหาคำตอบ
ปีญหามีดังนี้ครับ
………………….
๑ นายดำให้เงินนายแดง ๑๐๐ บาท นายแดงรับไว้เรียบร้อย
ตามหลักธรรม นายดำได้บำเพ็ญบุญทานมัยเรียบร้อยแล้ว โดยการสละเงิน ๑๐๐ บาท
๒ นายแดงเอาเงินที่นายดำให้จำนวน ๑๐๐ บาทนั้น (ซึ่ง ณ ขณะนี้เป็นเงินของนายแดง) ให้นายดำ นายดำรับไว้เรียบร้อย
ตามหลักธรรม นายแดงได้บำเพ็ญบุญทานมัยเรียบร้อยแล้ว โดยการสละเงิน ๑๐๐ บาท
๓ นายดำเอาเงินที่นายแดงให้จำนวน ๑๐๐ บาทนั้น (ซึ่ง ณ ขณะนี้กลับมาเป็นเงินของนายดำ) ให้นายแดงเป็นครั้งที่ ๒ นายแดงรับไว้เรียบร้อย
ตามหลักธรรม นายดำได้บำเพ็ญบุญทานมัยเป็นครั้งที่ ๒ เรียบร้อยแล้ว โดยการสละเงิน ๑๐๐ บาท นับรวมกับครั้งแรก ขณะนี้นายดำสละเงินไปแล้ว ๒๐๐ บาท
๔ นายแดงเอาเงินที่นายดำให้จำนวน ๑๐๐ บาทนั้น (ซึ่ง ณ ขณะนี้เป็นเงินของนายแดง) ให้นายดำเป็นครั้งที่ ๒ นายดำรับไว้เรียบร้อย
ตามหลักธรรม นายแดงได้บำเพ็ญบุญทานมัยเป็นครั้งที่ ๒ เรียบร้อยแล้ว โดยการสละเงิน ๑๐๐ บาท นับรวมกับครั้งแรก ขณะนี้นายแดงสละเงินไปแล้ว ๒๐๐ บาทเช่นเดียวกัน
ข้อมูล: ก่อนให้ ทั้งนายดำและนายแดงได้ตั้งเจตนาทุกครั้งว่า เงินที่ให้นี้เป็นเงินของตนเพราะตนรับเอามาเป็นของตนแล้ว ดังนั้น การให้กันไปให้กันมาตามเรื่องนี้จึงเป็น “การให้” จริงๆ ไม่ใช่ “การคืน”
………………….
ถามว่า ตามเรื่องนี้ นายดำและนายแดงจะได้บุญทวีขึ้นไปเรื่อยๆ ตามจำนวนครั้งที่ให้ ใช่หรือไม่
ตามเรื่องนี้ นายดำและนายแดงจะได้บุญทานมัยเท่ากับได้สละเงินเป็นพันเป็นหมื่น (เงิน ๑๐๐ บาท คูณด้วยจำนวนครั้งที่ให้) ทั้งๆ ที่ตัวเงินจริงๆ ที่ใช้ไปเพื่อการนี้มีเพียง ๑๐๐ บาทเท่านั้น ใช่หรือไม่
ขอความกรุณางดคำตอบประเภท –
…ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า…
…มันน่าจะ…
…นี่เป็นความเห็นส่วนตัวนะ…
ความเห็นส่วนตัวเอาไว้ทีหลังนะครับ
ขอให้ใช้ความพยายามในการค้นคว้าหาหลักฐานจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ตลอดจนมติของบูรพาจารย์ ให้ทั่วถ้วนก่อน ว่าท่านแสดงเรื่องนี้ หรือเรื่องทำนองนี้ หรือหลักฐานหลักธรรมที่อาจตีความให้เข้ากับเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้างหรือไม่
ค้นให้แหลกก่อน
พบอะไรอย่างไร เอามาบอกกัน
หรือไม่พบอะไรอย่างไร ก็บอกมา
ต่อจากนั้นจึงค่อยแสดงความเห็นของเรา
เวลานี้ข้อบกพร่องของพวกเราที่พบมาก คือ
๑ เริ่มต้นด้วยการแสดงความเห็นทันที
แต่ไม่แสวงหาความรู้ตามหลักฐาน
๒ บอกว่า-หรือคิดว่า-เรื่องแบบนี้ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะต้องตอบ หรือที่จะต้องหาความรู้มาตอบ
ขอประทานโทษ-เวลานี้แม้แต่พระภิกษุสามเณรเองก็คิดแบบนี้-ไม่ใช่หน้าที่
ผมจึงดักคอไว้ข้างต้นโน้นว่า-โดยเฉพาะญาติมิตรที่เป็นพระภิกษุสามเณร
ถ้าพระภิกษุสามเณรคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ ก็แล้วใครเล่าจะมีหน้าที่?
การศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยเป็นหน้าที่โดยตรงของพระภิกษุสามเณร
ความจริง การศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้งปวง-ซึ่งรวมทั้งชาวบ้านด้วย
แต่สำหรับพระภิกษุสามเณรแล้วเป็นหน้าที่โดยตรง ปฏิเสธไม่ได้
บางทีเวลานี้เราอาจจะหลงทาง คิดไปว่า-ถึงไม่ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยก็ไม่เป็นไร ขอให้เรียนวิชาที่จะรู้ทันโลก อยู่กับโลกได้ก็พอแล้ว
แล้วเลยพาให้เข้าใจไปว่า-เรียนเรื่องอื่น ทำเรื่องอื่นสำคัญกว่าการศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย
ถอยกลับมาตั้งหลักกันนะครับ
รู้ทันโลก อยู่กับโลกได้ก็ดี ไม่ใช่ไม่ดี
แต่รู้หลักพระธรรมวินัยด้วย ดีกว่า
——————
ปัญหาข้างต้นนั้นผมเองก็ยังไม่รู้คำตอบ ไม่ใช่แกล้งถามลองภูมิ
ผมนึกสงสัยขึ้นมาเอง ตัวผมเองนะต้องค้นอยู่แล้ว แต่มานึกดูว่า พระภิกษุสามเณรที่เป็น “เพื่อน” ทางเฟซบุ๊กก็มีอยู่เป็นอันมาก ญาติมิตรทั่วไปที่รู้บาลีก็มีอยู่มิใช่น้อย
บอกกล่าวขอแรงกันให้ช่วยกันค้นคว้าน่าจะดีกว่า หลายตาดีกว่าสองตา เท่ากับเป็นการชักชวนกันทำกุศลด้วย
นอกจากเรื่องที่ถามนี้แล้วยังมีอีกหลายเรื่องครับที่น่ารู้ ควรรู้ และต้องรู้
ช่วยกันค้น ช่วยกันคว้า เป็นการสืบอายุพระศาสนาไปพร้อมๆ กัน
ผมว่า-สงสัยอะไรถามกัน บอกกัน ช่วยกัน ดีกว่าอัดอั้นงมหาอยู่คนเดียว
พูดให้ทันสมัยก็ว่า-นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราจะผ่านมันไปด้วยกัน
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
๑๗:๕๘
…………………………….
…………………………….