สารถี (บาลีวันละคำ 234)
สารถี
คำนี้บาลีเป็น “สารถิ” อ่านว่า สา-ระ-ถิ (เสียงสั้น-สระ อิ) ภาษาไทยใช้ว่า สารถี (เสียงยาว-สระ อี)
“สารถิ – สารถี” แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ยังม้าให้ระลึก” (คือคอยกระตุ้นม้าให้วิ่งหรือให้หยุด) (2) “ผู้ยังรถให้แล่นไป” (3) “ผู้ไปพร้อมกับรถ”
คำว่า “สารถี” เข้าใจกันในความหมายว่า “คนขับรถ”
ฝรั่งแปล “สารถิ” ว่า charioteer, coachman ซึ่งเป็นคำแปลที่ตรงตามรากศัพท์
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล chariot ว่า ราชรถ, รถสองล้อที่ชาวโรมันใช้แข่ง, รถม้าสี่ล้อ, รถม้าชนิดขับเอง
คำว่า coach แปลว่า (1) รถม้าสี่ล้อ, รถพ่วงในขบวนรถไฟ, รถม้าที่เดินประจำทางในระหว่างเมืองในสมัยก่อน (2) ครูพิเศษ, ครูฝึกหัดการกีฬา, สั่งสอน, ฝึกหัด
ความหมาย (2) นี้ก็คือที่เรารู้จักกันว่า “โคช”
โปรดสังเกตว่า คำแปลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ “ม้า” และ “สั่งสอน, ฝึกหัด” ซึ่งส่องความว่า “สารถี” มีกำเนิดมาจากคนฝึกม้า เมื่อเอาม้าไปเทียมรถ จึงเรียกคนขับรถว่า “สารถี” ไปด้วย
หลักฐานที่ยืนยันว่า “สารถี” หมายถึงผู้สั่งสอน ผู้ฝึกหัด ก็คือพระพุทธคุณบทที่ว่า “ปุริสทมฺมสารถิ” – ทรงเป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึก
คำฝรั่งอีกคำหนึ่งที่คนไทยนิยมเรียกคนขับรถคือ “โชเฟอร์” – chauffeur
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล chauffeur ว่า คนรับจ้างขับรถยนต์ส่วนตัว, ขับรถ, ขับรถรับส่ง
โปรดสังเกตด้วยว่า ฝรั่งไม่ได้แปล “สารถิ” ว่า chauffeur หรือ driver
ฝรั่งเรียนบาลีทีหลังไทย แต่รู้บาลีลึกถึงราก
: ถ้าไทยไม่เรียนบาลีกันให้จริงจัง สักวันหนึ่งฝรั่งจะมาสอนไทย
บาลีวันละคำ (234)
29-12-55