บาลีวันละคำ

อปจายนมัย (บาลีวันละคำ 3,346)

อปจายนมัย (บุญกิริยาวัตถุข้อ 4)

“ทำบุญไหว้พระ”

…………..

วิธีทำบุญตามแนวพระพุทธศาสนา เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” แปลว่า “ที่ตั้งแห่งการทำบุญ” มี 2 ชุด:

ชุดมาตรฐาน หรือชุดเล็ก มี 3 วิธี คือ –

1. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ

2. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี

3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา

ชุดใหญ่มี 10 วิธี คือขยายต่อจากชุดเล็กไปอีก 7 วิธี คือ 

4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม

5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้

6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น

7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น 

8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ 

9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ 

10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง

…………..

ทำบุญวิธีที่ 4 “อปจายนมัย

อ่านว่า อะ-ปะ-จา-ยะ-นะ-ไม

ประกอบด้วยคำว่า อปจายน + มัย

(๑) “อปจายน

อ่านว่า อะ-ปะ-จา-ยะ-นะ รากศัพท์มาจาก อป (คำอุปสรรค = ปราศจาก, หลีกไป) + จายฺ (ธาตุ = บูชา, นับถือ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: อป + จาย = อปจายฺ + ยุ > อน : อปจายฺ + อน = อปจายน แปลตามศัพท์ว่า “กุศลจิตเป็นเหตุให้นับถือกัน” หมายถึง การให้เกียรติหรือความเคารพ, การบูชา, ความเคารพสักการะ (honouring, honour, worship, reverence)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อปจายน– การแสดงความเคารพ, การนับถือ, การนอบน้อม. (ป., ส.).”

(๒) “มัย” 

บาลีเป็น “มย” อ่านว่า มะ-ยะ นักภาษาวิเคราะห์ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ –

(1) มีความหมายว่า “มยํ” (มะ-ยัง) = ข้าพเจ้าเอง (“myself”)

(2) มีความหมายว่า “ปญฺญตฺติ” (บัญญัติ) = รับรู้กันว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (“regulation”)

(3) มีความหมายว่า “นิพฺพตฺติ” = บังเกิด (“origin”, arising from)

(4) มีความหมายว่า “มโนมย” = ทางใจ (“spiritually”)

(5) มีความหมายว่า “วิการ” = ทำให้แปลกไปจากสภาพเดิมของสิ่งนั้น (“alteration”) เช่น เอาทองมาทำเป็นสร้อยคอ (ทอง = สภาพเดิม, สร้อยคอ = สิ่งที่ถูกทำให้แปลกจากเดิม)

(6) มีความหมายว่า “ปทปูรณ” (บทบูรณ์) = ทำบทให้เต็ม เช่น ทานมัย ก็คือทานนั่นเอง สีลมัย ก็คือศีลนั่นเอง เติม “มัย” เข้ามาก็มีความหมายเท่าเดิม (to make up a foot of the verse)

กฎของการใช้คำว่า “มย” ก็คือ ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะเป็นส่วนท้ายของคำอื่นเสมอ

อปจายน + มย = อปจายนมย (อะ-ปะ-จา-ยะ-นะ-มะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการอ่อนน้อม” หรือ “บุญที่สำเร็จด้วยอปจายนะ” อาจเรียกสั้นๆ ว่า “ทำบุญไหว้พระ” หมายถึง บุญที่ทำด้วยวิธีสักการบูชา เคารพนับถือ อ่อนน้อมถ่อมตน ต่อบุคคลและสิ่งที่ควรแก่การเคารพบูชา

อปจายนมย” ในภาษาไทยใช้เป็น “อปจายนมัย” 

ขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อปจายนมัย : (คำวิเศษณ์) ที่สำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตัวต่อผู้ใหญ่ (ใช้แก่บุญ), เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

…………..

อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน (ข้อ ๔ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐)

…………..

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำว่า “อปจายน” แปลไว้ว่า honouring, honour, worship, reverence (การให้เกียรติหรือความเคารพ, การบูชา, ความเคารพสักการะ-อ้างแล้วข้างต้น) แต่ไม่มีคำที่สมาสกับ “มย” เป็น “อปจายนมย” 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [89] บุญกิริยาวัตถุ 10 บอกไว้ดังนี้ – 

…………..

4. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม — Apacāyanamaya: by humility or reverence)

…………..

แถม :

อปจายนมัย” ที่ชาวเราคุ้นกันดี คือพุทธภาษิตบทที่ว่า –

อภิวาทนสีลิสฺส

นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน 

จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ

อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ.

(อะภิวาทะนะสีลิสสะ 

นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน

จัตตาโร  ธัมมา  วัฑฒันติ 

อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง.)

คำแปล –

บุคคลผู้มีปรกติไหว้กราบ

มีปรกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์

ธรรมสี่ประการย่อมเจริญ 

คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

ที่มา: สหัสสวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 18

…………..

กิเลสหรือ “บาป” ที่เป็นข้าศึกแก่ “อปจายนมัย” คือ ปลาสะ (ตีเสมอ) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน

กิเลสเหล่านี้ทำให้มือแข็ง ยกขึ้นไหว้ใครไม่ได้ และทำให้คอแข็ง ก้มศีรษะให้ใครไม่เป็น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เล็กไม่เป็น

: ใหญ่ไม่จริง

#บาลีวันละคำ (3,346)

10-8-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *