ธัมมเทสนามัย (บาลีวันละคำ 3,354)
ธัมมเทสนามัย (บุญกิริยาวัตถุข้อ 9)
“ทำบุญให้ธรรม”
…………..
วิธีทำบุญตามแนวพระพุทธศาสนา เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” แปลว่า “ที่ตั้งแห่งการทำบุญ” มี 2 ชุด:
ชุดมาตรฐาน หรือชุดเล็ก มี 3 วิธี คือ –
1. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
2. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี
3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา
ชุดใหญ่มี 10 วิธี คือขยายต่อจากชุดเล็กไปอีก 7 วิธี คือ
4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้
6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น
7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น
8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้
9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้
10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง
…………..
ทำบุญวิธีที่ 9 “ธัมมเทสนามัย”
อ่านว่า ทำ-มะ-เท-สะ-นา-ไม
ประกอบด้วยคำว่า ธัมมเทสนา + มัย
(๑) “ธัมมเทสนา”
เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺมเทสนา” อ่านว่า ทำ-มะ-เท-สะ-นา แยกศัพท์เป็น ธมฺม + เทสนา
(ก) “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
“ธมฺม – ธรรม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –
สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “ธัมม” ความหมายเน้นหนักตามข้อ (1) ถึง (6)
(ข) “เทสนา” อ่านว่า เท-สะ-นา รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทิสฺ + ยุ > อน = ทิสน > เทสน + อา = เทสนา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาเป็นเครื่องแสดงเนื้อความ”
“เทสนา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การเทศน์, การสั่งสอน, บทเรียน (discourse, instruction, lesson)
(2) ควบกับ ธมฺม+เทสนา = ธมฺมเทสนา หมายถึง การสั่งสอนธรรม, การแสดงธรรม, การเทศน์, คำเทศน์หรือสั่งสอน (moral instruction, exposition of the Dhamma, preaching, sermon)
(3) การยอมรับ (โดยชอบด้วยกฎหมาย) ([legal] acknowledgment)
“เทสนา” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “เทศน์” “เทศนา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทศน์, เทศนา : (คำนาม) การแสดงธรรมสั่งสอนในทางศาสนา. (คำกริยา) แสดงธรรม เช่น พระเทศน์, (ภาษาปาก) โดยปริยายหมายความว่า ดุด่าว่ากล่าวอย่างยืดยาว เช่น วันนี้ถูกเทศน์เสียหลายกัณฑ์. (ป. เทสนา).”
ธมฺม + เทสนา = ธมฺมเทสนา แปลว่า “การแสดงธรรม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมเทสนา” ว่า moral instruction, exposition of the Dhamma (ธรรมเทศนา, การแสดงธรรม) (ดูที่ “เทสนา” ข้างต้นด้วย)
โดยถ้อยคำ “ธมฺมเทสนา” หมายถึงแสดงพระธรรมคำสอนอันมีในพระพุทธศาสนา แต่โดยความหมาย “ธมฺมเทสนา” หมายถึงการให้ความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนและหลักปฏิบัติอันมีประโยชน์และดีงามทั่วไป
“ธมฺมเทสนา” ในที่นี้เขียนแบบไทยเป็น “ธัมมเทสนา” อ่านว่า ทำ-มะ-เท-สะ-นา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ไม่มีคำว่า “ธัมมเทสนา” แต่มีคำว่า “ธรรมเทศนา” บอกไว้ดังนี้ –
“ธรรมเทศนา : การแสดงธรรม, การบรรยายธรรม.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บไว้ทั้ง “ธัมมเทสนา” และ “ธรรมเทศนา” แต่เก็บคำว่า “ธัมมเทสนามัย” ไว้
(๒) “มัย”
บาลีเป็น “มย” อ่านว่า มะ-ยะ นักภาษาวิเคราะห์ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ –
(1) มีความหมายว่า “มยํ” (มะ-ยัง) = ข้าพเจ้าเอง (“myself”)
(2) มีความหมายว่า “ปญฺญตฺติ” (บัญญัติ) = รับรู้กันว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (“regulation”)
(3) มีความหมายว่า “นิพฺพตฺติ” = บังเกิด (“origin”, arising from)
(4) มีความหมายว่า “มโนมย” = ทางใจ (“spiritually”)
(5) มีความหมายว่า “วิการ” = ทำให้แปลกไปจากสภาพเดิมของสิ่งนั้น (“alteration”) เช่น เอาทองมาทำเป็นสร้อยคอ (ทอง = สภาพเดิม, สร้อยคอ = สิ่งที่ถูกทำให้แปลกจากเดิม)
(6) มีความหมายว่า “ปทปูรณ” (บทบูรณ์) = ทำบทให้เต็ม เช่น ทานมัย ก็คือทานนั่นเอง สีลมัย ก็คือศีลนั่นเอง เติม “มัย” เข้ามาก็มีความหมายเท่าเดิม (to make up a foot of the verse)
กฎของการใช้คำว่า “มย” ก็คือ ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะเป็นส่วนท้ายของคำอื่นเสมอ
ธมฺมเทสนา + มย = ธมฺมเทสนามย (ทำ-มะ-เท-สะ-นา-มะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการแสดงธรรม” หรือ “บุญที่สำเร็จด้วยธรรมเทศนา” อาจเรียกสั้นๆ ว่า “ทำบุญให้ธรรม” หมายถึง บุญที่ทำด้วยวิธีแสดงพระธรรมเทศนา หรือการแสดงธรรมในรูปแบบอื่นๆ ตลอดจนการให้ความรู้ในทางพระศาสนาและในเรื่องอันเป็นประโยชน์และเป็นความดีงามทั่วไป
“ธมฺมเทสนามย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ธัมมเทสนามัย” (ทำ-มะ-เท-สะ-นา-ไม)
ขยายความ :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธัมมเทสนามัย : (คำวิเศษณ์) สำเร็จด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้, เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ข้อ ๙ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [89] บุญกิริยาวัตถุ 10 บอกไว้ดังนี้ –
…………..
9. ธัมมเทสนามัย (ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ — Dhammadesanāmaya: by teaching the Doctrine or showing truth)
…………..
กิเลสหรือ “บาป” ที่เป็นข้าศึกแก่ “ธัมมเทสนามัย” คือ ถัมภะ (หัวดื้อ) มานะ (ถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) มิจฉาทิฏฐิ (การเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม, การเห็นผิดเป็นชอบ)
…………..
ดูก่อนภราดา!
เมื่อทำหน้าที่แสดงธรรม
: จงแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า
: อย่าแสดงธรรมของข้าพเจ้า
#บาลีวันละคำ (3,354)
18-8-64