บาลีวันละคำ

ดนตรี (บาลีวันละคำ 235)

ดนตรี

คำนี้เป็นภาษาบาลีด้วยหรือ ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ดนตรี : เสียงที่ประกอบกันเป็นทํานองเพลง, เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดังทําให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศก หรือรื่นเริง เป็นต้น ได้ตามทํานองเพลง”

และบอกว่า สันสกฤตเป็น “ตนฺตฺรินฺ” (ตัน-ตฺริน)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกว่า –

ตนฺตฺรินฺ : (1) ‘อันถักหรือทอแล้ว’, ‘อันมีด้ายหรือสาย’, ‘อันทำด้วยด้าย’ (2) นักดนตรี, ผู้ขับร้องคายะศัพท์; musician”

ตนฺตฺรินฺ” บาลีก็คือ “ตนฺติ” (ตัน-ติ) แปลว่า –

1. คัมภีร์, ข้อความในพระไตรปิฎก

2. แนว, เส้นสาย, สายตระกูล; แบบแผนที่มีมาแต่เดิม

3. เชือกหรือสายพิณ รวมทั้งสายของเครื่องดนตรีอื่นๆ

เฉพาะความหมายที่ 3 นี้ ฝรั่งแปล “ตนฺติ” ว่า the string or cord of a lute

ทำให้นึกถึงคำว่า “วงสตริง” “คอร์ดกีต้าร์” ที่คอดนตรีพูดกัน

เต่า ในบาลีสันสกฤต ไทยเราแปลงเป็น เด็ก เช่น ตล เป็น ดล, ตาวติงส เป็น ดาวดึงส์ ดังนั้น “ตนฺ-” จึง = ดัน แล้วก็เป็น ดน

ติ” เป็น “ตฺริ” แล้วก็เป็น “ตรี” ในภาษาไทย เช่น มนฺติ = มนตฺริ แล้วก็เป็น มนตรี

เพราะฉะนั้น ตนฺติ = ตนฺตฺริ = ดนตรี

ดนตรี” ในความหมายเดิมนั้นเป็นเครื่องสาย บรรเลงด้วยการดีด หรือสี กาลต่อมาจึงรวมไปถึงเครื่องบรรเลงอื่นๆ ด้วย

ร.6 ว่า – “ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก”

สุนทรภู่ว่า – “อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์”

: ดนตรี แม้จะพูดว่า “เล่น” แต่ถ้าฟังให้เป็น ก็เป็นสื่อให้บรรลุธรรมได้

————–

(กราบขอบพระคุณท่านพระมหาอาทิตย์ อาทิตฺตเมธี ที่มีเมตตาเสนอแนะคำว่า มุขปาฐ ปรัมปรา และ ดนตรี)

บาลีวันละคำ (235)

30-12-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย