บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อ่านพจนานุกรม

อ่านพจนานุกรม

—————–

อ่านใจพจนานุกรม

เมื่อวันก่อน ผมเขียนเรื่องอะไรเรื่องหนึ่ง เอ่ยถึงคำที่ออกเสียงว่า ซุ่ม/สุ้ม-เสียง เกิดความสงสัยว่า คำนี้สะกดอย่างไรกันแน่ – ซุ่มเสียง หรือ สุ้มเสียง?

เมื่อสงสัย ก็ใช้วิธีที่มีนิสัยชอบใช้มาแต่ไหนแต่ไร นั่นคือเปิดพจนานุกรม

พจนานุกรมที่ผมเปิดอยู่เป็นประจำทุกวัน วันละหลายครั้ง ก็คือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 

เปิดมาตั้งแต่ฉบับแรก พ.ศ.๒๔๙๓

ฉบับต่อมา พ.ศ.๒๕๒๕

ฉบับต่อมา พ.ศ.๒๕๔๒

จนถึงฉบับล่าสุดหรือฉบับปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๔

เปิดมาตั้งแต่ฉบับแรก-ฉบับ พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นเล่มกระดาษแท้ๆ

ต่อมา ฉบับ พ.ศ.๒๕๒๕ ก็ยังใช้ที่เป็นเล่มกระดาษอยู่

มาถึงฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ เริ่มจะมีระบบไฮเทค พิมพ์เป็นไฟล์ ก็เริ่มจะใช้คละกัน เปิดเล่มกระดาษด้วย มะงุมมะงาหราหาฉบับที่เป็นไฟล์ด้วยเป็นบางครั้ง และค่อยๆ บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ

พอมาถึงฉบับ พ.ศ.๒๕๕๔ คราวนี้เปิดเฉพาะที่เป็นไฟล์เป็นส่วนมาก นานๆ จะเปิดฉบับที่เป็นเล่มกระดาษ-เช่นเมื่อสงสัยว่าฉบับที่เป็นไฟล์น่าจะพิมพ์คลาดเคลื่อน ก็จะเปิดเล่มกระดาษเพื่อตรวจสอบ

ผมอยากให้คนไทย-โดยเฉพาะเด็กไทยรุ่นใหม่-มีนิสัยรักการเปิดพจนานุกรมเพื่อศึกษาถ้อยคำที่ใช้อยู่ในภาษาไทย 

คำนี้สะกดอย่างไร 

คำนี้มีความหมายว่าอย่างไร

…………………………………

อย่างคำว่า “จำวัด” 

ถ้ารักการเปิดพจนานุกรมสักหน่อย ก็จะไม่มีใครอุตริเอาไปใช้ในความหมายว่า “พักอยู่ที่วัด”

เพราะพจนานุกรมบอกไว้ชัดๆ “จำวัด” หมายถึง พระนอนหลับ

พูดอย่างนี้คงมีคนอยากอธิบายแก้ต่าง

คือบอกว่า – พระนอนหลับนั่นแหละ ก็คือ-พระท่านพักอยู่ที่วัด – นั่นแน่

ขอเรียนว่า ปรับแก้ความเข้าใจผิดให้เป็นถูก ประเสริฐกว่าพยายามอธิบายผิดให้เป็นถูกนะครับ

…………………………………

เมื่อสงสัยว่าคำนี้สะกดอย่างไร – ซุ่มเสียง หรือ สุ้มเสียง ผมก็เปิดพจนานุกรมฯ 

แล้วก็พบว่า พจนานุกรมฯ เก็บไว้ทั้ง ๒ คำ

ตรงนี้แหละที่จะต้องใช้วิชาการอ่านพจนานุกรมเข้าตัดสิน 

ผมไม่แน่ใจว่า ผมได้วิชานี้มาจากไหน คงได้มาจากการเปิดพจนานุกรมบ่อยๆ นั่นเอง

ปัญหาก็คือ เมื่อพจนานุกรมฯ เก็บไว้ทั้ง ๒ คำ จะรู้ได้อย่างไรว่า คำไหนเป็นคำหลัก คำไหนเป็นคำรอง

ผมก็ใช้วิธี-อ่านเอาจากคำนิยามในพจนานุกรมฯ อ่านแล้วรู้ได้อย่างไร โปรดพิจารณาจากของจริง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ดังนี้ 

…………………………………

ซุ่มเสียง : (คำโบราณ) (คำนาม) สุ้มเสียง เช่น จึงตั้งนะโม ซุ่มเสียงใหญ่โต. (ประถม ก กา).

สุ้มเสียง : (คำนาม) กระแสเสียง, (คำโบราณ) เขียนเป็น ซุ่มเสียง ก็มี เช่น จึงตั้งนะโม ซุ่มเสียงใหญ่โต. (ประถม ก กา).

…………………………………

คำนิยามตามพจนานุกรมฯ บอกว่า “ซุ่มเสียง” เป็นคำโบราณ เป็นคำนาม แต่ไม่ได้บอกความหมายว่า “ซุ่มเสียง” หมายถึงอะไร บอกแต่ว่า “ซุ่มเสียง” ก็คือ “สุ้มเสียง” 

แล้ว “สุ้มเสียง” คืออะไร? ก็ต้องตามไปดูที่คำว่า “สุ้มเสียง” 

ที่คำว่า “สุ้มเสียง” คำนินามบอกว่า “กระแสเสียง”

เป็นอันได้ความว่า –

ซุ่มเสียง > สุ้มเสียง

สุ้มเสียง = กระแสเสียง

เพราะฉะนั้น ถ้าจะหมายถึง “กระแสเสียง” ต้องสะกดเป็น “สุ้มเสียง” ไม่ใช่ “ซุ่มเสียง”

ถ้าสะกดเป็น “ซุ่มเสียง” ก็จะหมายถึง “สุ้มเสียง” 

จาก “สุ้มเสียง” จึงจะหมายถึง “กระแสเสียง” 

จะต้องสะกดอ้อมค้อมทำไม 

สะกดตรงไปที่ “สุ้มเสียง” เลยไม่ดีกว่าดอกหรือ 

นอกจากนั้น พจนานุกรมฯ ยังบอกว่า “ซุ่มเสียง” เป็นการสะกดแบบคำโบราณ ซึ่งคำปัจจุบันสะกดเป็น “สุ้มเสียง” เรากำลังเขียนหนังสือสื่อสารกันอยู่ในเวลาปัจจุบัน แล้วจะไปสะกดแบบคำโบราณทำไม

ด้วยเหตุผลดังที่พิจารณามา จึงวินิจฉัยได้ว่า “สุ้มเสียง” เป็นคำหลัก “ซุ่มเสียง” เป็นคำรอง

ใครจะสะกดเป็น “ซุ่มเสียง” ก็ไม่ผิด แต่โปรดทราบว่าคำหลักคือ “สุ้มเสียง” 

เมื่อรู้หลักดังที่แสดงมานี้แล้ว ทุกครั้งที่เขียนคำนี้ เราก็จะสะกดเป็น “สุ้มเสียง” ด้วยความมั่นใจ พร้อมด้วยเหตุผลที่อธิบายได้ว่า ทำไมจึงไม่สะกดเป็น “ซุ่มเสียง”

เห็นใครเขียนคำนี้สะกดเป็น “ซุ่มเสียง”ก็บอกกล่าวแนะนำได้ว่า ทำไมจึงควรสะกดเป็น “สุ้มเสียง”

นี่คือความละเอียดอ่อนของภาษาไทย

ภาษาเป็นวัฒนธรรมของชาติ

ชาติไทยเรามีวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ ทำไมเล่าเราจึงไม่ควรจะรักชาติของเรา

ทำไมเล่าเราจึงไม่ควรที่จะรักภาษาของเรา

แล้วทำไมเล่าเราจึงจะพากันละเลยเพิกเฉย ไม่เรียนไม่รู้ ไม่สนใจศึกษาภาษาไทยของเรา

…………………………………….

ไทยสอนไทยด้วยกันเอง ไม่ฟัง

ฤๅจะต้องรอให้ฝรั่งมาสอนไทย

…………………………………….

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ เมษายน ๒๕๖๕

๑๖:๒๔

…………………………………………

อ่านพจนานุกรม – อ่านใจพจนานุกรม

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *