สัมเภทะ (บาลีวันละคำ 3,360)
สัมเภทะ
คำที่มีความหมายคนละอย่างเดียวกัน
อ่านว่า สำ-เพ-ทะ
คำว่า “สัมเภทะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
…………..
สัมเภทะ :
(๑) (คำนาม) การปะปน, การรวมกัน (ป., ส.).
(๒) (คำนาม) การแยก, การแตกออก, การแบ่ง. (ป., ส.).
…………..
โปรดสังเกตว่า ความหมายของคำว่า “สัมเภทะ” ตามที่พจนานุกรมฯ บอกไว้นี้มีความขัดแย้งกันอยู่ในตัว
“การปะปน” กับ “การแบ่ง”
“การรวมกัน” กับ “การแยก”
ความหมายตรงข้ามกัน
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
“สัมเภทะ” สันสกฤตก็เป็น “สมฺเภท”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สมฺเภท : (คำนาม) ‘สัมเภท, แปลงเปน สมเภท,’ สังคมแห่งสองนที, ‘ที่รวมน้ำ’ ก็เรียก; สังคมแห่งนทีกับสมุทร์; การแตก-หัก-หรือระเบิด; สมาคม, สังโยค; the confluence of two rivers; the junction of a river with the sea; breaking or bursting; union, junction.”
จะเห็นได้ว่า ความหมายที่สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ก็ขัดแย้งกันเช่นเดียวกัน
(1) การแตก-หัก-หรือระเบิด breaking or bursting
(2) สมาคม, สังโยค union, junction
ความหมายตรงข้ามกัน
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
“สัมเภทะ” เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺเภท” อ่านว่า สำ-เพ-ทะ รากศัพท์มาจาก สํ (ปกติเป็นคำอุปสรรค แต่ในที่นี้แทนศัพท์ว่า “สมฺมา” = ด้วยดี, อย่างดี) + ภิทฺ (ธาตุ = แบ่ง, แยก) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แผลง อิ ที่ ภิ-(ทฺ) เป็น เอ (ภิทฺ > เภท)
: สํ + ภิทฺ = สํภิทฺ + ณ = สํภิทณ > สํภิท > สมฺภิท > สมฺเภท แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่แยกกันด้วยดีแห่งแม่น้ำ”
ในที่นี้สิ่งที่ถูกแบ่งแยก ท่านเล็งถึง “แม่น้ำ” คำแปลตามศัพท์จึงบอกไว้เช่นนั้น และตามคำแปลนี้ “สมฺเภท” หมายถึง ปากน้ำ, ปากอ่าว (ความหมายตามหนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ [ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต])
เทียบกับความหมายของสันสกฤตที่ว่า “สังคมแห่งสองนที, ‘ที่รวมน้ำ’ ก็เรียก; สังคมแห่งนทีกับสมุทร์” ก็จะเห็นว่าเป็นความหมายเดียวกัน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมฺเภท” ว่า mixing up, confusion, contamination (การปะปนกัน, ความยุ่งเหยิง, การเปื้อนเปรอะ)
อภิปรายขยายความ :
ความหมายของคำว่า “สมฺเภท” หรือ “สัมเภทะ” นี้ ถ้าจะให้เห็นภาพ ก็ต้องมองจากปากอ่าวเข้าหาฝั่ง จะเห็นแม่น้ำสายต่างๆ ที่ไหลมารวมกัน จากปากอ่าวเข้าไปจึงเป็นสถานที่ที่แม่น้ำแยกกันมาเป็นสายๆ ตรงตามความของศัพท์ที่ว่า “ที่เป็นที่แยกกันด้วยดีแห่งแม่น้ำ”
แต่ถ้ามองจากปลายแม่น้ำหรือปากน้ำออกไปในอ่าวหรือในทะเล จะกลายเป็นว่า สถานที่ตรงนั้นเป็นที่ที่แม่น้ำหลายสายมารวมกัน ซึ่งเป็นความหมายของ “สมาคม, สังโยค union, junction” หรือที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า mixing up หรือที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า “สัมเภทะ” คือ “การปะปน, การรวมกัน”
ในจักกวัตติสูตรมีคำบรรยายสภาพสังคมเมื่อถึงยุคเสื่อมว่า –
…………..
ทสวสฺสายุเกสุ … สมฺเภทํ โลโก คมิสฺสติ ยถา อเชฬกา กุกฺกุฏา สูกรา โสณา สิคาลา
เมื่อมนุษย์มีอายุขัย 10 ปี … สัตว์โลกจักสมสู่ปะปนกันหมด เหมือนแพะ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกที่มันสมสู่กันฉะนั้น
ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 46
…………..
ในที่นี้ “สมฺเภท” ท่านหมายถึง “สมสู่ปะปน” คือรวมกัน ไม่ใช่แยกกัน
คัมภีร์อรรถกถาไขความศัพท์ว่า “สมฺเภท” ดังนี้ –
…………..
สมฺเภทนฺติ มิสฺสกภาวํ มริยาทเภทํ วา.
แปลว่า: คำว่า สมฺเภท หมายถึง ภาวะที่เจือปนกัน หรือการทำลายขอบเขต
ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 3 หน้า 60 (จกฺกวตฺติสุตฺตวณฺณนา)
…………..
ขยายความว่า ผลที่เกิดจาก “การทำลายขอบเขต” ก็คือ ทำให้สิ่งที่เคยอยู่กันคนละเขตเข้าไปประสมปะปนกัน หรือสิ่งที่เคยอยู่ในกรอบออกไปอยู่นอกกรอบ ที่เรียกว่าแหกกรอบหรือแหกกฎ นั่นก็คือ “สมฺเภท” (การทำลายขอบเขต) ทำให้เกิด “สมฺเภท” (ภาวะที่เจือปนกัน)
นี่คือความแปลกพิเศษของคำว่า “สมฺเภท” หรือ “สัมเภทะ”
หมายความว่า “รวมกัน” ก็ได้ “แยกกัน” ก็ได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าแยกชั่วออกจากดีไม่ได้
: นานไปดีจะกลายเป็นชั่ว
#บาลีวันละคำ (3,360)
24-8-64