วาปีบุษบากร (บาลีวันละคำ 3,815)
วาปีบุษบากร
บึงบัวหรือบัวในบึง
ประกอบด้วยคำว่า วาปี + บุษบ + อากร
(๑) “วาปี”
อ่านว่า วา-ปี รากศัพท์มาจาก วปฺ (ธาตุ = เพาะปลูก) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ว-(ปฺ) เป็น อา (วปฺ > วาป) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วปฺ + ณ = วปณ > วป > วาป + อี = วาปี แปลตามศัพท์ว่า “แหล่งน้ำเป็นเหตุให้เพาะปลูกได้” หมายถึง บึง, หนอง, สระน้ำธรรมชาติ (a pond)
บาลี สันสกฤตเป็น “วาปิ” และ “วาปี”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วาปิ, วาปี : (คำนาม) หนองนำ, สระน้า; ทเลศาป; a pool, a pond, a lake.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาปี : (คำนาม) หนองนํ้า, บึง. (ป., ส.).”
(๒) “บุษบ”
บาลีเป็น “ปุปฺผ” อ่านว่า ปุบ-ผะ รากศัพท์มาจาก ปุปฺผฺ (ธาตุ = แย้ม, บาน) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปุปฺผ + อ = ปุปฺผ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่แย้มบาน” (2) “สิ่งที่เบ่งบานเหมือนดอกไม้”
“ปุปฺผ” ที่แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แย้มบาน” หมายถึง ดอกไม้ (a flower) เป็นความหมายทั่วไป
“ปุปฺผ” ที่แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบ่งบานเหมือนดอกไม้” หมายถึง เลือด (blood) เป็นความหมายเฉพาะในบางแห่ง โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงระดูของสตรี (the menses)
บาลี “ปุปฺผ” ในภาษาไทยใช้เป็น “บุปผ” และ “บุปผา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บุปผ-, บุปผา : (คำนาม) ดอกไม้. (ป. ปุปฺผ; ส. ปุษฺป).”
บาลี “ปุปฺผ” สันสกฤตเป็น “ปุษฺป”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปุษป : (คำนาม) ดอกไม้หรือผกาทั่วไป; ฤตู (ของสตรึ); ความเบิกบาน, การเบิกบาน; ยานของท้าวกุเวร; ราชธานีของกรรณ, หรือภาคัลปุร; a flower in general; the menses; expansion, expanding; the vehicle of Kuvera; the capital of Karna, or Bhagalpur.”
สันสกฤต “ปุษฺป” ในภาษาไทยใช้เป็น “บุษบ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “บุษบา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) บุษบ- : (คำนาม) ดอกไม้. (ส. ปุษฺป; ป. ปุปฺผ).
(2) บุษบา : (คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำนาม) ดอกไม้.
(๓) “อากร”
บาลีอ่านว่า อา-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ (อะ) ปัจจัย
: อา + กรฺ = อากรฺ + อ = อากร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำไปทั่วๆ” “ผู้ทำไปข้างหน้า” หมายถึง บ่อ, แหล่งกำเนิดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (a mine)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อากร : (คำนาม) หมู่, กอง, เช่น พลากร (พล + อากร); บ่อเกิด, ที่เกิด, เช่น ทรัพยากร ศิลปากร; ค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บ เช่น อากรรังนก อากรมหรสพ; คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้ว หมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น ดารากร นรากร ทวิชากร ประชากร หรืออาจมีความหมายคงเดิมก็ได้ เช่น พระปฏิมากร.”
การประสมคำ :
๑ วาปี + บุษป = วาปีบุษบ แปลว่า “ดอกไม้ที่เกิดในบึง” หรือ “ดอกไม้ที่เกิดในสระ” หมายถึง ดอกบัว
๒ วาปีบุษบ + อากร = วาปีบุษบากร แปลว่า “ที่เกิดของดอกบัว” หมายถึง สระบัว
อีกนัยหนึ่ง “อากร” เป็นคำที่เพิ่มข้างหลังแต่มีความหมายคงเดิม คือ “วาปีบุษบ” หมายถึง ดอกบัว เพิ่ม “อากร” เข้าข้างหลังเป็น “วาปีบุษบากร” ก็คงหมายถึง ดอกบัว เหมือนเดิม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “บุษบากร” บอกไว้ดังนี้ –
“บุษบากร : (คำวิเศษณ์) อันเต็มไปด้วยดอกไม้. (ส. ปุษฺปากร).”
ถ้าถือตามพจนานุกรมฯ การประสมคำนี้ก็จะเป็นอีกนัยหนึ่ง กล่าวคือ
๑ บุษบ + อากร = บุษบากร แปลว่า “(สระ) อันเต็มไปด้วยดอกไม้”
๒ วาปี + บุษบากร = วาปีบุษบากร แปลว่า “สระอันเต็มไปด้วยดอกไม้” หมายถึง สระบัว
เนื่องจากคำว่า “วาปีบุษบากร” เป็นวิสามานยนาม (proper name) ความหมายของคำต้องเป็นไปตามที่เจ้าของนามหรือผู้ขนานนามกำหนด ที่แยกศัพท์และแสดงความหมายมานี้จึงต้องถือว่าเป็นทัศนะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งอาจตรงหรือต่างไปจากความหมายที่ประสงค์
ขยายความ :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร” (อ่านเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 20:30 น.) แสดงพระประวัติตอนหนึ่งว่า
…………..
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพร้อม เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2434 หลังจากพระมารดาถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีทรงทูลขอพระราชทานพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร มาอภิบาลเป็นพระราชธิดาบุญธรรม พร้อมกับพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ และพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2525 พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยากรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2526 มีพระชันษายืนยาวถึง 91 ปี นับเป็นพระราชบุตรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีพระชันษาสูงที่สุด …
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เหี่ยวแห้งหลังจากได้บูชาพระ
: ดีกว่าเป็นขยะโดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไร
#บาลีวันละคำ (3,815)
22-11-65
…………………………….
……………………………