รีไซเคิล (recycle) (บาลีวันละคำ 3,363)
รีไซเคิล (recycle)
บาลีว่าอย่างไร
คำว่า “รีไซเคิล” เป็นคำเขียนทับศัพท์คำอังกฤษว่า recycle
ถ้าถามว่า recycle แปลเป็นภาษาบาลีว่าอย่างไร วิธีที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้อยู่ก็คือตรวจดูในพจนานุกรมอังกฤษ – บาลี ของ A.P. BUDDHATTA MAHTHERA
ปรากฏว่า พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ของ A.P. BUDDHATTA MAHTHERA ไม่ได้เก็บคำว่า recycle ไว้ นี่ก็เป็นธรรมดา ไม่มีพจนานุกรมฉบับไหนสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องคลำหาทางอื่น แต่ก็ตั้งคำถามไปด้วยว่า เมื่อไรนักเรียนบาลีของไทยจึงจะสามารถทำพจนานุกรมบาลีที่เป็นมาตรฐานขึ้นมาได้สักฉบับ จะเป็นบาลี-ไทย, ไทย-บาลี, บาลี-อังกฤษ, อังกฤษ-บาลี หรือบาลี-?? อะไรก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล recycle เป็นภาษาไทยว่า “นำกลับมาใช้อีก” เป็นคำแปลที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้ว
“นำกลับมา” คำกริยาบาลีว่า “ปจฺจาหรติ” มาจาก ปฏิ = กลับ + อาหรติ = นำมา แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ
ปฏิ > ปจฺจ + อาหรติ = ปจฺจาหรติ แปลว่า “ย่อมนำกลับมา”
แต่แปลอย่างนี้ก็ยังไม่สื่อให้เข้าใจได้ว่าตรงกับ recycle เป็นเพียงคิดคำบาลีให้ตรงกับคำไทยว่า “นำกลับมา” เท่านั้น
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านจดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน พบเรื่องที่กล่าวถึงคำว่า recycle ตรงๆ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ จึงขอนำมาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้
…………..
แปรใช้ใหม่ (recycle)
ในสมัยที่ผู้คนระแวดระวังสิ่งแวดล้อมและประหยัดทรัพยากร จะพบเห็นหรือได้ยินคำ “รีไซเคิล” ในสื่อต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยได้นำคำ recycle มาทับศัพท์ ความจริงคำนี้ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติไว้แล้วว่า แปรใช้ใหม่
เมื่อนำสิ่งใดไป recycle ย่อมหมายความว่า สิ่งนั้นจะต้องผ่านกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น นำเศษแก้วและขวดที่ไม่ต้องการไปหลอมและผ่านกระบวนการเป็นขั้นตอน แล้วผลิตภาชนะแก้วขึ้นใหม่ที่อาจไม่ได้อยู่ในรูปลักษณ์เดิมก็ได้ หรือนำกระดาษที่ไม่ต้องการแล้ว ซึ่งอาจมีตัวพิมพ์ตัวเขียนเต็มไปหมด ไป recycle กลับมาเป็นกระดาษสะอาดว่างเปล่า พร้อมที่จะพิมพ์หรือเขียนลงไปได้อีก ในการนี้คงจะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ หลายขั้นตอน ด้วยเหตุนี้จึงนำคำว่า แปรใช้ใหม่ มาใช้ในความหมายของ recycle
เราไม่สามารถใช้คำว่า “เวียน” หรือข้อความว่า “นำกลับมาใช้ใหม่” สำหรับคำ recycle เพราะจะมีความหมายในเชิงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นเลย และจะตรงกับคำ reuse คือ ใช้ซ้ำ มากกว่า เช่น นำขวดน้ำปลาที่ไม่มีน้ำปลาแล้วมาล้างให้สะอาดแล้วบรรจุน้ำปลาใหม่ เช่นนี้เป็นการใช้ซ้ำ.
ผู้เขียน : ศ. ดร.กฤษณา ชุติมา ราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาเคมี สำนักวิทยาศาสตร์
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๗๕ สิงหาคม ๒๕๔๐
…………..
เมื่ออ่านแล้วก็ทำให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้นว่า ความหมายจริงๆ ของ recycle ไม่ใช่ “นำกลับมาใช้ใหม่” หรือ “นำกลับมาใช้อีก” ตามที่แปลกันทั่วไป หากแต่ต้องนำไปผ่านกระบวนการชำระสะสางสิ่งที่ไม่ต้องการออกให้สะอาดหมดจด แล้วปรับรูปเปลี่ยนร่างให้พร้อมที่นำไปใช้งานได้อีก
เมื่อได้ความชัดเจนเช่นนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำก็คิดศัพท์ขึ้นมาได้คำหนึ่ง คือ “โทสาประหาร” อ่านว่า โท-สา-ปฺระ-หาน ประกอบด้วยคำว่า โทส + อประหาร
“อประหาร” นี้ หน้าตาแปลกหน่อย แต่ถ้าปรับเป็นรูปบาลีอาจจะไม่แปลก นั่นคือ “โทสาปหาร” แยกศัพท์เป็น โทส + อปหาร
(๑) “โทส”
อ่านว่า โท-สะ รากศัพท์มาจาก ทุสฺ (ธาตุ = ประทุษร้าย, เกลียดชัง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ทุ-(สฺ) เป็น โอ (ทุสฺ > โทส)
: ทุสฺ + ณ = ทุสณ > ทุส > โทส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การประทุษร้าย” “การเกลียดชัง” “เครื่องประทุษร้ายกัน” “เหตุทำให้เกลียดชังกัน”
“โทส” ในบาลีมีความหมาย 2 นัย คือ –
(1) ความชั่ว, มลทิน, ความผิด, สภาพไม่ดี, ความบกพร่อง; ความเลวร้าย, ความเสื่อมทราม (corruption, blemish, fault, bad condition, defect; depravity, corrupted state)
(2) โทสะ, ความโกรธ, ความประสงค์ร้าย, เจตนาร้าย, ความชั่วช้า, ความมุ่งร้าย, ความเกลียด (anger, ill-will, evil intention, wickedness, corruption, malice, hatred)
หรือจำสั้นๆ :
(1) ความชั่ว (corruption)
(2) ความโกรธ (anger)
(๒) “อปหาร” อ่านว่า อะ-ปะ-หา-ระ ประกอบด้วย อป + หาร
(ก) “อป” (อะ-ปะ) เป็นคำอุปสรรค แปลว่า “ปราศ, หลีก” นำหน้าคำอื่นทำให้มีความหมายในทำนองดังต่อไปนี้- ไม่มี, หลีกไป, ทำให้พ้นไป, คร่าออกไป, นำออกไป, ผลักหรือดันออกไป, เดินออกไป, หันหรือเลี่ยงไป, ถอยไปข้างๆ, หลีกทาง
(ข) “หาร” (หา-ระ) รากศัพท์มาจาก หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (หรฺ > หาร)
: หรฺ + ณ = หรณ > หร > หาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การนำไป” หมายถึง สิ่งซึ่งอาจถือเอาได้; การคว้าเอา, การถือเอา; การจับยึด, เต็มมือ, ทรัพย์ที่ได้มาจากการปล้นหรือสงคราม (that which may be taken; grasping, taking; grasp, handful, booty)
อป + หาร = อปหาร (อะ-ปะ-หา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การนำออกไปให้พ้น” หมายถึง การนำไป, การขโมยไป, การปล้นสะดม (taking away, stealing, robbing)
โทส + อปหาร = โทสาปหาร (โท-สา-ปะ-หา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การนำสิ่งที่เสียหายออกไป” หรือ “การกำจัดสิ่งที่มีโทษออกไป” หมายความว่า อะไรก็ตามที่นำไปผ่านกระบวนการชำระสะสางหรือกำจัดสิ่งที่มีพิษภัยหรือสิ่งที่ไม่ต้องการออกจนหมดจดดีแล้ว พร้อมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไปอีก
จะเห็นได้ว่า ความหมายนี้ตรงกับคำอธิบายคำว่า “แปรใช้ใหม่ (recycle)” ของจดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถานที่นำเสนอไว้ข้างต้น
“โทสาปหาร” เขียนแบบไทยเป็น “โทสาประหาร” รูปและเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “โทษประหาร” (ทำผิดถึงขั้นถูกตัดสินประหารชีวิต) ที่พูดกันในภาษาไทย ใครจะนึกไปอย่างนั้นแบบสนุกๆ ก็ไม่ไกลจากความหมายที่ต้องการเท่าไรนัก นั่นคือ “เอาสิ่งที่มีโทษไปประหารเสีย”
ที่ว่ามานี้เป็นการคิดศัพท์-จะว่าคิดเล่นสนุกๆ เท่านั้นก็ได้ ไม่มีความประสงค์จะให้ใครเอาไปใช้แทนคำว่า recycle แต่ประการใดทั้งสิ้น เป็นการฝึกสมองด้วยเรื่องภาษาบาลีตามวิสัยนักเรียนบาลี เพื่อให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาความรู้ภาษาบาลี ก้าวหน้าไปในบาลี กระตุ้นเตือนกันและกันให้มีอุตสาหะในการเรียนบาลีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนถึงการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอันเป็นจุดหมายปลายทางของการเรียนบาลี
…………..
ดูก่อนภราดา!
สิ่งที่มีโทษทุกชนิด
: ถ้าเราไม่คิดกำจัดมัน
: มันก็จะกำจัดเรา
#บาลีวันละคำ (3,363)
27-8-64