บาลีวันละคำ

วาระจิต (บาลีวันละคำ 3,362)

วาระจิต

จิตมนุษย์นี้ไซร้ …

อ่านว่า วา-ระ-จิด

ประกอบด้วยคำว่า วาระ + จิต

(๑) “วาระ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “วาร” อ่านว่า วา-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = ผูก, พัน, มัด) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (วรฺ > วาร)

: วรฺ + = วรณ > วร > วาร แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ผูกไว้” หมายถึงเวลาที่กำหนดไว้ตามเหตุการณ์นั้นๆ หมายถึง วาระ, โอกาส, เวลา, คราว (turn, occasion, time, opportunity)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “วาร” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) วาร ๑ : (คำนาม) วันหนึ่ง ๆ ในสัปดาห์ เช่น อาทิตยวาร. (ป., ส.).

(2) วาร– ๒, วาระ : (คำนาม) ครั้ง, คราว, เช่น พิจารณารวดเดียว ๓ วาระ อยู่ในตำแหน่งวาระละ ๒ ปี, เวลากำหนด เช่น วาระอันเป็นมงคล วาระสุดท้ายของชีวิต.

ในที่นี้ “วาร” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) ที่หมายถึง ครั้ง หรือ คราว

(๒) “จิต

บาลีเป็น “จิตฺต” อ่านว่า จิด-ตะ รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

ในที่นี้ วาร + จิต ประวิสรรชนีย์ (ใส่สระ อะ) ที่ “วาร” เป็น “วาระ” เพราะ –

(1) อ่านว่า วา-ระ

(2) เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลัง

: วาระ + จิต = วาระจิต แปลว่า “วาระแห่งจิต” 

อภิปรายขยายความ :

วาระจิต” หมายถึง ชั่วขณะที่จิตคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คือ จิตคิดเรื่องนี้ เป็นวาระจิตหนึ่ง จิตเปลี่ยนไปคิดเรื่องโน้น เป็นอีกวาระจิตหนึ่ง 

ว่าตามหลักพระอภิธรรม จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ขณะเกิดกับขณะดับเป็นคนละขณะกัน ใช้คำว่า “วาระจิต” ก็คือต่างวาระจิตกัน เกิดก็เป็นวาระจิตหนึ่ง ดับก็เป็นวาระจิตหนึ่ง เกิดใหม่ก็เป็นอีกวาระจิตหนึ่ง แต่เป็นไปอย่างรวดเร็วมากจนเรารู้สึกว่าเกิดติดต่อไปกันไปเป็นขณะจิตเดียวกันไม่มีดับเลย 

นักอธิบายธรรมะสมัยใหม่เปรียบการเกิดดับของจิตกับกระแสไฟฟ้าที่ทำให้เกิดแสงสว่าง โดยอธิบายว่า แสงสว่างจากกระแสไฟฟ้านั้นมันติด-ดับ ติด-ดับ อยู่ตลอดเวลา แต่เพราะความเร็วของมัน เราจึงเห็นว่ามันติดคือสว่างอยู่ตลอดเวลาทั้งๆ ที่มันดับด้วย วาระจิตก็เช่นเดียวกัน คิดเรื่องเดียว แต่จิตเกิดดับติดต่อกันหลายวาระจิต

แต่ในระดับความเข้าใจธรรมดา กำลังคิดอะไรอยู่เรื่องหนึ่งก็ถือกันว่าเป็น “วาระจิต” หนึ่งแม้ว่าในระหว่างนั้นจิตจะเกิดดับหลายวาระติดต่อกันก็ตาม ใครกำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ แล้วมีคนรู้เรื่องที่เขากำลังคิดอยู่นั้นก็เรียกว่า “รู้วาระจิต” 

ภาษาไทยพูดว่า “วาระจิต” ภาษาบาลีใช้เป็น “จิตฺตวาร” อ่านว่า จิด-ตะ-วา-ระ ) พบได้ทั่วไปในคัมภีร์ เช่น – 

“ตสฺส  จิตฺตวารํ  ญตฺวา” = รู้วาระจิตของเขา 

หมายความว่า รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่

คำว่า “วาระจิต” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้วาระจิตของคนอื่นนับว่าเก่ง

: รู้วาระจิตของตัวเองนับว่าประเสริฐสุด

#บาลีวันละคำ (3,362)

26-8-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *