บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ขอความรู้

ขอความรู้

เมื่อประกาศผลสอบบาลีสนามหลวงประจำปี ๒๕๕๘ ออกมา ก็มีผู้คนแสดงความชื่นชมยินดีอนุโมทนากันเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ ออกจะเป็นที่เอิกเกริกกว่าประโยคอื่นๆ

ปีนี้มีพระภิกษุสามเณรสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ ๔๙ รูป

เป็นพระภิกษุ ๔๑ รูป เป็นสามเณร ๘ รูป

พระภิกษุที่สอบ ป.ธ.๙ ได้ปีนี้ ที่อายุมากที่สุดคือ พระมหาประดิษฐ์ โอภาโส วัดรัชฎาธิษฐาน อายุ ๖๒ (หมายเลขในประกาศลำดับที่ ๒๕)

สามเณรที่สอบ ป.ธ.๙ ได้ปีนี้ ที่อายุน้อยที่สุดคือ สามเณรธนวัฒน์ วิเซีย วัดจองคำ จังหวัดลำปาง อายุ ๑๙ (หมายเลขในประกาศลำดับที่ ๓๗)

กราบอนุโมทนาสาธุขอรับ

————–

ดูรายชื่อทั้งหมดแล้ว ผมมีข้อสงสัยที่อยากได้ความรู้ครับ

ความรู้เดิมของผมมีว่า

๑ สามเณรที่สอบบาลีได้ตั้งแต่ ป.ธ.๓ ขึ้นไป ไม่เรียกว่า “มหา” หรือ “พระมหา” เพราะยังเป็นสามเณรอยู่ แต่ให้ใช้คำว่า “เปรียญ” ต่อท้ายชื่อ (ต่อมาเมื่อคนไทยต้องมีนามสกุล ก็ต่อท้ายนามสกุล) เช่น “สามเณรทองย้อย แสงสินชัย เปรียญ” (ไม่ต้องระบุประโยค) เรียกง่ายๆ ว่า “สามเณรเปรียญ”

๒ สามเณรเปรียญ เมื่อบวชพระ ก็จะเป็น “พระมหา-” ได้ทันที

ทั้งนี้หมายถึง-หลังจากวันที่มีพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศประจำศกนั้นๆ ไปแล้ว

๓ กรณีพระภิกษุ เมื่อสอบบาลีได้ตั้งแต่ ป.ธ.๓ ขึ้นไป และหลังจากวันที่มีพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศประจำศกนั้นๆ ไปแล้ว ให้ใช้คำนำหน้านามว่า “พระมหา” ได้

ในรายชื่อพระภิกษุสามเณรที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ในปีนี้ มีพระภิกษุ ๒ รูป ลงชื่อว่า 

————–

พระธีรวิสิฏฐ์ ป. วิสิฏฺฐเวที (หมายเลขในประกาศลำดับที่ ๑๖)

พระพิสิฐ ป. วุฑฺฒิเมธี (หมายเลขในประกาศลำดับที่ ๓๑)

————–

ขอเรียนถามท่านผู้รู้ว่า ทำไมพระคุณเจ้าทั้ง ๒ รูปจึงไม่ใช้คำนำหน้าชื่อว่า 

พระมหาธีรวิสิฏฐ์ …

พระมหาพิสิฐ …

ทำไมจึงเป็น พระธีรวิสิฏฐ์ ป. และ พระพิสิฐ ป.

ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าปัจจุบันหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้มีว่าประการใด 

ขอความรู้ที่แน่นอนนะขอรับ 

ไม่เอาประเภท…ผมเข้าใจว่า…

————–

หาความรู้กันไปด้วยนะครับ

อย่าเอาแต่อนุโมทนาอย่างเดียว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘

————

……….

หากผู้นั้นเป็นพระมหา เมื่อลาสิกขาและเข้ามาอุปสมบทใหม่ภายหลัง คงให้เรียกเป็นเพียง พระเปรียญ แม้จะเป็นมหามาก่อนก็ตาม คงใช้ ป. ต่อท้ายฉายา เช่น พระสมชาย มหิทฺธิโก ป. (พระสมชาย เปรียญ) ไม่ใช่พระมหาสมชาย เหมือนก่อนลาสิกขาบท

……….

และพระเปรียญผู้อุปสมบทใหม่เช่นนั้น ย่อมกลายเป็นพระมหาได้อีกครั้ง ก็ต่อเมื่อสอบไล่ได้บาลีใหม่ชั้นถัดไป หรือสอบไล่ได้บาลีตั้งแต่ชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยคเป็นต้นไปชั้นใดชั้นหนึ่งแล้ว จึงถือว่าได้รับตั้งเป็นเปรียญใหม่ และมีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าชื่อว่าพระมหา เพราะถือว่าได้รับพระราชทานตั้งเป็นเปรียญใหม่แล้ว

……….

“มหา” ถือเป็นสมณศักดิ์ชนิดหนึ่ง ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่พระสงฆ์ผู้ไล่ได้เปรียญธรรม พระสงฆ์ผู้ได้รับพระราชทาน สามารถใช้นามมหานำหน้าชื่อตนได้เสมอ เท่าที่ยังคงในสมณเพศตราบจนมรณภาพหรือลาสิกขาบท

หากผู้นั้นเป็นพระมหา เมื่อลาสิกขาบทและเข้ามาอุปสมบทใหม่ภายหลัง คงให้เรียกเป็นเพียง พระเปรียญ แม้จะเป็นมหามาก่อนก็ตาม คงใช้ ป. ต่อท้ายฉายา เช่น พระสมชาย มหิทฺธิโก ป. (พระสมชาย เปรียญ) ไม่ใช่พระมหาสมชาย เหมือนก่อนลาสิกขาบท

อนึ่ง เกณฑ์ดังกล่าวมา ถือนับโดยการตั้งเปรียญพระราชทานของพระมหากษัตริย์เป็นเกณฑ์กำหนดสำคัญ ด้วยการพระราชทานนั้น เป็นการพระราชทานแก่พระสงฆ์ผู้เป็นเปรียญใหม่ให้เป็นพระมหาเปรียญเฉพาะจบ คราวครองสมณเพศต่อเนื่องไปนั้น เมื่อลาสิกขาบทหรือมรณภาพ จึงถือว่าหลุดจากสมณศักดิ์มหาเปรียญนั้น ด้วยสละซึ่งฐานะอันจะทรงไว้ซึ่งสมณศักดิ์นั้น ๆ แล้ว

พระมหาผู้ลาสิกขาบทนั้น เป็นคฤหัสถ์หรืออนุปสัมบัน ก็ยังสามารถใช้นามเปรียญต่อท้ายนามสกุลได้เสมอ เพราะถือเป็นเครื่องประกอบคุณวุฒิอย่างหนึ่ง แต่ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มในทะเบียนราษฎร์ได้

และพระเปรียญผู้อุปสมบทใหม่เช่นนั้น ย่อมกลายเป็นพระมหาได้อีกครั้ง ก็ต่อเมื่อสอบไล่ได้บาลีใหม่ชั้นถัดไป หรือสอบไล่ได้บาลีตั้งแต่ชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยคเป็นต้นไปชั้นใดชั้นหนึ่งแล้ว จึงถือว่าได้รับตั้งเป็นเปรียญใหม่ และมีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าชื่อว่าพระมหา เพราะถือว่าได้รับพระราชทานตั้งเป็นเปรียญใหม่แล้ว ….. 

อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/335188

————

ประกาศคณะสงฆ์ 

เรื่องรับรองวิทยฐานะของนักธรรมหรือเปรียญ ผู้บวชใหม่เข้าสู่ฐานะเดิม[1] 

———- 

ด้วยวิธีปฏิบัติทางคณะสงฆ์แต่เดิมมา ถือว่านักธรรมหรือเปรียญ เมื่อลาสิกขาไปแล้ว วิทยฐานะนักธรรมหรือเปรียญก็เป็นอันพ้นไปจากทางคณะสงฆ์ เมื่อกลับมาบวชใหม่ วิทยฐานะนักธรรมหรือเปรียญนั้น หาอาจได้รับความรับรองจากทางคณะสงฆ์อีกไม่ จำต้องเริ่มต้นศึกษาสอบใหม่ วิธีการเช่นนี้ ไม่สอดคล้องต้องด้วยนโยบายศาสนศึกษาของคณะสงฆ์ให้ซึ่งมุ่งจะส่งเสริมและบำรุงการศาสนศึกษาให้ไพศาล และขัดต่อเหตุผลข้อเท็จจริงทั้งทางคดีโลกและธรรม ฐานะของบุคคลย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้แต่วิทยฐานะย่อมคงที่ แม้ผู้ทรงวิทยฐานะจะอยู่ในภาวะเช่นไรก็ตามที ด้วยเหตุนี้ เพียงแต่นักธรรมหรือเปรียญเปลี่ยนภาวะจากพระภิกษุสามเณรมาเป็นคฤหัสถ์ จะถือเป็นเหตุไม่รับรู้วิทยฐานะ และกำหนดให้ต้องเริ่มต้นศึกษาในเมื่อกลับมาบวชใหม่นั้น จึงหาควรแก่เหตุไม่ ในทางราชการ ก็ปรากฏว่าคงรับรองวิทยฐานะของนักธรรมและเปรียญคฤหัสถ์ด้วยดี 

อาศัยเหตุนี้ จึงให้ยกเลิกวิธีปฏิบัติไม่รับรองวิทยฐานะเดิมของนักธรรมหรือเปรียญผู้บวชใหม่ และให้ถือว่านักธรรมหรือเปรียญใด ๆ ก็ตาม เมื่อลาสิกขาแล้วและกลับมาบวชใหม่ ให้คงดำรงวิทยฐานะเท่าที่มีอยู่ในขณะที่ลาสิกขานั้นทุกประการ ถ้านักธรรมหรือเปรียญผู้นั้น ยังศึกษาไม่จบหลักสูตรสูงสุดทางธรรมหรือเปรียญ และประสงค์จะเข้าสอบไล่ในสนามหลวงต่อจากประโยคเดิม ก็ให้ได้รับสิทธิสอบต่อไปได้ 

ให้กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามประกาศคณะสงฆ์นี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 

ประกาศมา ณ วันที่ ๓๑ ตุลามคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ 

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ 

ผู้บัญชาการคณะสงฆ์ แทนพระองค์สมเด็จพระสงฆราช

——–

[1]  จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒๙ ภาค ๑ :  เมษายน ๒๔๘๔

Watcharin T. Khamchai

๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘

(พระมหา วัชรินทร์ ภทฺรเมธี วัดพระธาตุศรีจอมทอง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160)

————

ร.กาญจโนภาส มหาบ้านนอก บ.หนองบัวโคก 

๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘

(ความคิดเห็นท้ายโพสต์)

พระธีรวิสิฏฐ์ ป. วิสิฏฺฐเวที เป็นอาจารย์ผู้ให้ความรู้ภาษาบาลีแก่อาตมาเอง ท่านเป็นอาจารย์สอน ป.ธ.๘ และ ป.ธ.๙ ที่สำนักเรียนวัดชัยฉิมพลีนี่แหละ ท่านเคยสอบ ป.ธ.๙ ได้ปี 42 แล้วลาสิกขาไป กลับมาอุปสมบทใหม่ได้ 2 พรรษา ก็ลงชื่อสอบ ป.ธ.๙ ใหม่ ก็สอบผ่านอีกครั้งพร้อมลูกศิษย์ ในชีวิตท่านสอบผ่าน ป.ธ.๙ สองครั้งถือว่าไม่ธรรมดานะครับ

———-

ทองย้อย แสงสินชัย 

๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘

(ความคิดเห็นท้ายโพสต์)

กราบขอบพระคุณ พระคุณท่าน ร.กาญจโนภาส มหาบ้านนอก บ.หนองบัวโคก คำตอบเกี่ยวกับพระคุณพระธีรวิสิฏฐ์ ป. วิสิฏฺฐเวที น่าบันทึกไว้ในประวัติการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ข้อมูลเช่นนี้มักไม่มีใครรู้ แต่เป็นเรื่องน่ารู้ขอรับ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *