ดิรัจฉาน (บาลีวันละคำ 1,029)
ดิรัจฉาน
คำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ 3 รูป คือ :
ดิรัจฉาน (ดิ-รัด-ฉาน)
เดรัจฉาน (เด-รัด-ฉาน)
เดียรัจฉาน (เดีย-รัด-ฉาน)
จำง่ายๆ ว่า ดิ– เด– เดีย– ตามด้วย –รัจฉาน
คำนี้ไม่ว่าจะสะกดเป็น ดิรัจฉาน เดรัจฉาน หรือ เดียรัจฉาน เวลาออกเสียงพูด จะได้ยินเป็น เด-ระ-ฉาน เป็นส่วนมาก
“ดิรัจฉาน” “เดรัจฉาน” หรือ “เดียรัจฉาน” บาลีมีใช้ 2 คำ คือ “ติรจฺฉาน” และ “ติรจฺฉานคต”
(๑) “ติรจฺฉาน” (ติ-รัด-ฉา-นะ) รากศัพท์มาจาก ติรจฺฉ + ยุ ปัจจัย
(1) “ติรจฺฉ” รากศัพท์มาจาก ติริย (ขวาง) + อญฺช (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง ติริย เป็น ติร, อญฺช เป็น จฺฉ
: ติริย > ติร + อญฺช + อ = ติรญฺช > ติรจฺฉ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปขวาง”
(2) ติรจฺฉ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ยืดเสียง อ ที่ อ-(น) เป็น อา
: ติรจฺฉ + ยุ > อน = ติรจฺฉน > ติรจฺฉาน แปลเท่าศัพท์เดิม คือ “ผู้ไปขวาง” หมายความว่า เจริญเติบโตโดยทางขวางซึ่งตรงกันข้ามกับมนุษย์ที่โตไปทางสูง
(๒) “ติรจฺฉานคต” (ติ-รัด-ฉา-นะ-คะ-ตะ)
ประกอบด้วย ติรจฺฉาน (ผู้ไปขวาง) + คต (ไป) = ติรจฺฉานคต
คำว่า “คต” (คะ-ตะ) ตามปกติแปลว่า “ไปแล้ว” แต่ในที่นี้ท่านว่าเป็น “ศัพท์สกรรถ”
“สกรรถ” (สะ-กัด) แปลตามศัพท์ว่า “ความหมายของตน” หมายถึงเมื่อเอาคำเช่นนี้ไปต่อท้ายศัพท์ใด ศัพท์นั้นก็ยังมีความหมายเท่าเดิม จะว่าเป็นการ “หลากคำ” แบบหนึ่งของบาลีก็ได้ (คือยักเยื้องรูปคำไปต่างๆ แต่ความหมายเหมือนกัน)
ดังนั้น “ติรจฺฉานคต” ก็มีความหมายเท่ากับ “ติรจฺฉาน” นั่นเอง
อีกนัยหนึ่ง ท่านว่า “ติรจฺฉานคต” แม้ถ้าจะแปล (คือไม่ถือว่า “คต” เป็นศัพท์สกรรถ แต่เป็นศัพท์ที่แปลได้ความ) ก็แปลได้ว่า “ผู้ถึงความเป็นสัตว์ดิรัจฉาน” หรือ “ผู้นับเข้าในพวกสัตว์ดิรัจฉาน”
“ติรจฺฉาน” และ “ติรจฺฉานคต” หมายถึง สัตว์ทั่วไปที่ไม่ใช่มนุษย์ (an animal)
พจน.54 บอกความหมายของ ดิรัจฉาน เดรัจฉาน หรือ เดียรัจฉาน ไว้ว่า –
“สัตว์เว้นจากมนุษย์ เช่นหมู หมา วัว ควาย (มักใช้เป็นคําด่า),.. (ป. ติรจฺฉาน ว่า ขวาง, ติรจฺฉานคต ว่า สัตว์มีร่างกายเจริญโดยขวาง).”
คนกับสัตว์ :
อาหารนิทฺทา ภยเมถุนญฺจ
กิน นอน กลัว สืบพันธุ์
สามญฺญเมตปฺปสุภี นรานํ
มีเสมอกันทั้งคนและสัตว์
ธมฺโมว เตสํ อธิโก วิเสโส
คุณธรรมเท่านั้นที่ทำให้คนประเสริฐกว่าสัตว์
ธมฺเมน หีนา ปสุภี สมานา.
เสื่อมจากคุณธรรมเสียแล้ว คนก็เท่ากับสัตว์
————
(ผู้เขียนบาลีวันละคำ จดจำฉันท์บาลีบทนี้มาจากท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง ป.ธ.9 ครูสอนบาลีและสอนการดำรงตนให้แก่ผู้เขียน, ท่านอาจารย์ไม่ได้บอกที่มา และผู้เขียนก็ยังไม่ได้สืบค้น, ส่วนคำแปลนั้นเป็นของผู้เขียนแปลเอง)
13-3-58