นิตยภัต [2] (บาลีวันละคำ 3,381)
นิตยภัต [2]
ไม่ใช่ “เงินเดือน”
อ่านว่า นิด-ตะ-ยะ-พัด
ประกอบด้วยคำว่า นิตย + ภัต
(๑) “นิตย”
บาลีเป็น “นิจฺจ” (นิด-จะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) น (คำอุปสรรค = ไม่, ไม่ใช่) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) ต ปัจจัย, แปลง ต เป็น จ, ซ้อน จฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย
: น + อิ = นิ + จฺ + ต = นิจฺต > นิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่เป็นไปตามสภาพ” คือ “ตามสภาพ” แล้ว สิ่งทั้งหลายจะต้องไม่คงทนยั่งยืน สิ่งใดเป็น “นิจฺจ” ก็หมายความสิ่งนั้น “ไม่เป็นไปตามสภาพ”
(2) น (คำอุปสรรค = ไม่, ไม่ใช่) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, แปลง อะ ที่ น เป็น อิ (น > นิ), แปลง ค ที่ คมฺ เป็น จ แล้วลบที่สุดธาตุ (คมฺ > จมฺ > จ) ซ้อน จฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย
: น + คมฺ = นคมฺ + จฺ + กฺวิ = นคมฺจฺกฺวิ > นิคมฺจฺกฺวิ > นิจมฺจฺกฺวิ > นิจฺจฺกฺวิ > นิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่ถึงความพินาศ” คือไม่เปลี่ยนไปจากสภาพเดิม ถ้าเปลี่ยน ก็คือสภาพเดิม “พินาศ” ไป
(3) นี (ธาตุ = นำไป) + จ ปัจจัย, ซ้อน จฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย, รัสสะ อี ที่ นี เป็น อิ (นี > นิ)
: นี + จฺ + จ = นีจฺจ > นิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำไปสู่ความเที่ยง” ความเที่ยงอยู่ที่ไหน ก็นำไปสู่ที่นั่น ดังนั้น ที่นั่นจึงเรียกว่า “นิจฺจ”
“นิจฺจ” มีความหมายว่า เที่ยง, แน่นอน, เป็นนิตย์, ยั่งยืน, คงทน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิจฺจ” ว่า constant, continuous, permanent (เสมอไป, สมํ่าเสมอ, ต่อเนื่องกันไป, ถาวร)
(๒) “ภัต”
บาลีเป็น “ภตฺต” (พัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ต ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภชฺ + ต = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ”
(2) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ต ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น อ (ภุ > ภ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภุชฺ + ต = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน”
ข้อความบางแห่งในคัมภีร์ คำว่า “ภตฺต” หมายถึง “ข้าวสุก” โดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไป “ภตฺต” หมายถึง อาหาร (ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นข้าว)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺต” (นปุงสกลิงค์) ว่า food, nourishment, meal, feeding (อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง)
บาลี “ภตฺต” สันสกฤตเป็น “ภกฺต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ภกฺต : (คำวิเศษณ์) อันมีความภักดีต่อ; อันเอาใจใส่; อันหุงหรือต้มแล้ว; attached to; attentive to; cooked or boiled; – (คำนาม) อาหาร; ข้าวอันหุงหรือต้มแล้ว; food; cooked or boiled rice.”
บาลี “ภตฺต” ภาษาไทยใช้เป็น “ภัต” และ “ภัตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัต, ภัต-, ภัตร : (คำนาม) อาหาร, ข้าว. (ป. ภตฺต).”
นิจฺจ + ภตฺต = นิจฺจภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อาหารประจำ” หมายถึง อาหารที่ผู้มีศรัทธาจัดถวายพระภิกษุสามเณรเป็นประจำ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิจฺจภตฺต” a continuous food-supply [for the bhikkhus] (อาหารที่จัดให้เป็นประจำ [สำหรับภิกษุ])
ขยายความ :
ความเป็นมาของ “นิจฺจภตฺต” เนื่องมาจากภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนามีธรรมเนียมต้องดำรงชีพด้วยอาหารที่ได้มาจากการเที่ยวบิณฑบาตโดยไม่เลือกบ้าน (คือจะเลือกรับเฉพาะบ้านนี้ ไม่รับบ้านนั้น ไม่ได้ และจะไม่ออกบิณฑบาตก็ผิดธรรมเนียม)
ต่อมามีญาติโยมมีศรัทธาประสงค์จะจัดอาหาร (ภตฺต) ถวายเป็นประจำ (นิจฺจ) แก่ภิกษุบางรูป จึงมีพุทธานุญาตให้รับอาหารเช่นนั้นได้ กล่าวคือภิกษุรูปนั้นสามารถไปฉันภัตตาหารที่บ้านโยมผู้นั้นโดยไม่ต้องเที่ยวบิณฑบาต กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าสามารถไปบิณฑบาตเฉพาะบ้านโยมที่ถวายประจำได้ จึงเรียกอาหารเช่นนั้นว่า “นิจฺจภตฺต”
กาลต่อมา ญาติโยมที่จัด “นิจฺจภตฺต” ถวายอาจไม่สะดวกด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะจัดอาหารถวายโดยตรง จึงมอบเงินค่าอาหารให้แก่ไวยาวัจกร (ผู้ปฏิบัติพระ) โดยมอบให้ไวยาวัจกรรับหน้าที่จัดอาหารถวายแทน คำว่า “นิจฺจภตฺต” จึงกลายความหมายจาก “อาหาร” มาเป็น “เงิน” (ค่าอาหาร)
“นิจฺจภตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นิตยภัต”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“นิตยภัต : (คำนาม) อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายภิกษุสามเณรเป็นนิตย์. (ส. นิตฺย + ป. ภตฺต)”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เพิ่มเติมบทนิยามเป็นดังนี้ –
“นิตยภัต : (คำนาม) อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายภิกษุสามเณรเป็นนิตย์, เงินงบประมาณแผ่นดินที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลเป็นประจำทุกปี เพื่อเบิกจ่ายถวายอุดหนุนอุปถัมภ์แก่พระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระสังฆาธิการ พระเลขานุการ พระเปรียญธรรม ๙ ประโยคเป็นต้น. (ส. นิตฺย + ป. ภตฺต)”
ดูเพิ่มเติม: “นิตยภัต” บาลีวันละคำ (833) 29-8-57
แถม :
มีผู้เข้าใจว่า “นิตยภัต” คือเงินที่ถวายอุปถัมภ์แก่พระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระสังฆาธิการ พระเลขานุการ พระเปรียญธรรม ๙ ประโยคเป็นต้นนั้น คือ “เงินเดือน” หรือบางคนก็เลยเรียกว่า “เงินเดือนพระ”
โปรดเข้าใจว่า “นิตยภัต” ไม่ใช่ “เงินเดือน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“เงินเดือน : (คำนาม) เงินค่าตอบแทนการทํางานที่กําหนดให้เป็นรายเดือน; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) เงินที่มีกําหนดจ่ายเป็นรายเดือนจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินเดือน.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามเป็นดังนี้ –
“เงินเดือน : (คำนาม) เงินค่าตอบแทนการทำงานที่กำหนดให้เป็นรายเดือน.”
คือตัดความหมายตามคำที่ใช้ในกฎหมายออกทั้งหมด
ถ้าดูความหมายของคำว่า “เงินเดือน” ในพจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 ที่ว่า “เงินที่มีกําหนดจ่ายเป็นรายเดือนจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินเดือน” กับความหมายของคำว่า “นิตยภัต” ที่ว่า “เงินงบประมาณแผ่นดินที่ … เบิกจ่ายถวายอุดหนุนอุปถัมภ์แก่พระภิกษุ” จะเห็นได้ว่า “นิตยภัต” กับ “เงินเดือน” (เฉพาะของทางราชการ) มีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือเป็น “เงินงบประมาณแผ่นดิน”
ข้อที่ชวนให้เข้าใจว่า “นิตยภัต” คือ “เงินเดือน” ก็อย่างเช่น –
“เงินเดือน” คือเงินที่ได้รับเป็นประจำทุกเดือน
“นิตยภัต” ก็คือเงินที่พระได้รับเป็นประจำทุกเดือน
หรือโดยทางหลักการ –
“เงินเดือน” (เฉพาะของทางราชการ) มาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน
“นิตยภัต” ก็มาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน
แต่ถึงกระนั้น โดยหลักทางพระธรรมวินัยและวิถีชีวิตสงฆ์แล้ว “นิตยภัต” จะถือว่าเป็น “เงินเดือน” หาได้ไม่ เพราะ “เงินเดือน” ได้มาตามการประกอบอาชีพ คือการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ แต่พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนามีวิถีชีวิตที่ละเลิกการประกอบอาชีพ คือการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพแล้ว แต่ดำรงชีพด้วยปัจจัยที่มีผู้ถวายด้วยศรัทธา “นิตยภัต” ที่ได้มาจึงอยู่ในฐานะ “ปัจจัยที่มีผู้ถวายด้วยศรัทธา” ไม่ใช่ค่าตอบแทนที่ได้มาเพราะการประกอบอาชีพ
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ฟังคำอธิบายของผู้มีความรู้ทางกฎหมายว่า เงินที่ทางราชการจ่ายให้เป็นประจำและเรียกว่า “เงินเดือน” จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามระเบียบของทางราชการ อันเป็นการยืนยันว่าผู้รับเงินประกอบอาชีพที่มีรายได้และอยู่ในฐานะที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่แผ่นดินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
แต่ “นิตยภัต” ที่ทางการเบิกจ่ายถวายพระนั้นไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย อันเป็นการยืนยันว่าผู้รับเงินมิได้ประกอบอาชีพที่มีรายได้และไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่แผ่นดิน ซึ่งสอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัยและวิถีชีวิตสงฆ์
เคยมีผู้เสนอแนวคิดว่า พระต้องเสียภาษีเงินได้ หรือ “เก็บภาษีพระ” ซึ่งถ้าทางราชการทำเช่นนั้นจริงๆ ก็เท่ากับรับรองยืนยันว่า พระในพระพุทธศาสนาเป็นผู้ประกอบอาชีพที่มีรายได้และอยู่ในฐานะที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่แผ่นดินเหมือนประชาชนทั่วไป ซึ่งเท่ากับทางราชการไม่รับรู้หลักพระธรรมวินัยและวิถีชีวิตสงฆ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือทางราชการเป็นผู้ทำลายหลักพระธรรมวินัยและวิถีชีวิตสงฆ์เสียเองนั่นเอง
การเรียก “นิตยภัต” ว่า “เงินเดือน” หรือ “เงินเดือนพระ” มีแต่จะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจวิถีชีวิตสงฆ์ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และทำให้พระเหมือนชาวบ้านเข้าไปเรื่อยๆ
ถ้าเห็นว่าพระสงฆ์ครองชีวิตไม่ตรงตามหลักพระธรรมวินัยและวิถีชีวิตสงฆ์ ก็ต้องแก้ไขที่ความประพฤติปฏิบัติของสงฆ์ให้อยู่ในกรอบพระธรรมวินัย และช่วยกันหาวิธีที่จะสนับสนุนให้พระสามารถปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยได้สะดวกขึ้นแม้ว่าสภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไป
แต่มิใช่ด้วยการสนับสนุนให้พระทำอะไรๆ เหมือนชาวบ้านมากขึ้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พระศาสนาจะผ่องแผ้ว
: ถ้าช่วยกันรักษารากแก้วให้ปลอดภัย
#บาลีวันละคำ (3,381)
14-9-64