บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาในคณะสงฆ์ไทย

เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาในคณะสงฆ์ไทย

—————————————-

คณะสงฆ์ไทยจัดให้มีการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรที่นับว่าเป็นมาตรฐานมาแต่เดิม ๒ อย่าง คือ พระปริยัติธรรมแผนกธรรม และพระปริยัติธรรมแผนกบาลี 

คณะสงฆ์แต่งตั้งพระเถระผู้ใหญ่ ๒ รูป ให้มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบ เรียกว่า “แม่กองธรรมสนามหลวง” และ “แม่กองบาลีสนามหลวง”

คำว่า “สนามหลวง” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายว่า “สถานซึ่งกําหนดให้เป็นที่สอบไล่นักธรรมและบาลี” 

“แม่กองธรรม” และ “แม่กองบาลี” นั้น เข้าใจว่า เดิมจริงๆ หมายถึงผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดสอบเท่านั้น ไม่ได้รับผิดชอบไปถึงการจัดการศึกษาคือการเรียนการสอน 

คำว่า “สนามหลวง” อันหมายถึง “สถานซึ่งกําหนดให้เป็นที่สอบไล่” ที่แนบท้ายตำแหน่งเป็นข้อยืนยันว่ารับผิดชอบเฉพาะการจัดสอบ 

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ งานของแม่กองธรรมสนามหลวงและแม่กองบาลีสนามหลวงมีแต่เรื่องการจัดการสอบเท่านั้น

การสอบนักธรรมเท่าที่ทำกัน อาจมีสนามสอบหลายระดับ เช่นระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และแม้แต่ “สนามวัด” คือวัดแต่ละวัดที่จัดการเรียนการสอนจัดการสอบเฉพาะภายในสำนักของตน ผลการสอบก็รับรองกันเองภายในขอบเขตของแต่ละสนาม

ส่วนการสอบบาลี เท่าที่ปรากฏยังไม่ได้ทำกันในระดับสนามวัด สนามอำเภอ หรือสนามจังหวัด หากจะมีก็เป็นอย่างที่เรียกว่า ทำแบบฝึกหัด ไม่ใช่การสอบ สอบบาลีจริงๆ มีสนามเดียว คือสอบบาลีสนามหลวง

การสอบระดับประเทศ คือสอบอย่างเป็นทางการของคณะสงฆ์เป็นส่วนรวม อย่างนี้แหละที่เรียกว่า “สนามหลวง” และเพราะเป็นงานใหญ่ จึงต้องมี “แม่กอง” ที่คณะสงฆ์แต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ

งาน “รับผิดชอบเฉพาะการจัดสอบ” จะประกอบไปด้วยงานหลักๆ คือ งานบัญชีรายชื่อผู้เข้าสอบ กำหนดสนามสอบ การออกข้อสอบ การจัดการสอบ แต่งตั้งกรรมการประจำสนามสอบ แต่งตั้งกรรมการนำข้อสอบไปเปิดสอบ แต่งตั้งกรรมการตรวจข้อสอบ การตรวจข้อสอบ การประกาศผลสอบ และการดำเนินการออกใบรับรองผลการสอบเป็นรายบุคคล

งานทั้งหมดนี้ทำปีละ ๑ ครั้ง

ต่อมา การสอบบาลีเกิดมีระบบ “สอบซ่อม” เฉพาะประโยค ๑-๒, ป.ธ.๓, ๔ และ ๕ คือบางวิชาที่สอบไม่ผ่านในการสอบสนามหลวง เปิดโอกาสให้สอบซ่อมได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด

เพราะฉะนั้น งานของแม่กองบาลีที่เคยทำปีละ ๑ ครั้ง เดี๋ยวนี้ก็จะเป็นปีละ ๑ ครั้งใหญ่ + อีก ๑ ครั้งย่อย

สมัยผมเรียนบาลี (๒๕๐๖-๒๕๑๕) ไม่ได้แบ่งย่อยเป็นประโยค ๑-๒ และไม่มีระบบสอบซ่อม สอบปีละครั้ง ตกแล้วตกเลย ปีหน้าสอบใหม่

………………………………………….

แบ่งย่อยเป็นประโยค ๑-๒ ตั้งแต่ปีไหน*

ระบบสอบซ่อมมีมาตั้งแต่ปีไหน

สอบธรรมสนามหลวงมีระบบสอบซ่อมหรือเปล่า

ท่านผู้ใดแม่นในข้อมูล ขอแรงช่วยบูรณาการให้ด้วยนะครับ เพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน 

………………………………………….

ในเมื่อกองธรรมสนามหลวงและกองบาลีสนามหลวงรับผิดชอบเฉพาะการจัดสอบเท่านั้น ไม่ได้รับผิดชอบไปถึงการจัดการศึกษาคือการเรียนการสอน แล้วการจัดการศึกษา คือการเรียนการสอนนักธรรมบาลี ใครเป็นผู้รับผิดชอบ?

ตอบว่า วัดต่างๆ ที่เปิดเป็น “สำนักเรียน” รับผิดชอบกันเอง

นักเรียนมีหรือไม่มี ถ้าไม่มีจะทำอย่างไร

ครูมีหรือไม่มี ถ้าไม่มีจะหามาจากไหน

อุปกรณ์การเรียนการสอนมีหรือไม่มี ถ้าไม่มีจะจัดหากันอย่างไร

ค่าใช้จ่ายทั่วไปมีหรือไม่ ถ้ามี ได้มาจากไหน ถ้าไม่มี จะหามาจากไหน

ฯลฯ

ปัญหาเหล่านี้ สำนักเรียนคือวัดต่างๆ รับผิดชอบกันเอง วัดใครวัดมัน

………………………………………….

แม้ตามระเบียบ ทุกวันนี้เราจะมี “คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม” รับผิดชอบการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๒ แต่โดยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ วัดต่างๆ ก็ยังคงต้องแก้ปัญหากันเองแบบวัดใครวัดมันเหมือนเดิม 

………………………………………….

ผมตั้งใจพูดแบบนี้ เพื่อที่ว่า-ใครที่รู้จริง และถ้าเห็นว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ผมว่า ก็จะได้ช่วยกันชี้แจง บอกกล่าว ให้ความรู้ที่ถูกต้อง

ถ้าใครลองเข้าไปนมัสการถามท่านเจ้าอาวาสสักวัดหนึ่งว่า-พระคุณท่านรู้เรื่องพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๒ บ้างหรือเปล่า เราคงเดาได้ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร

เวลานี้ นอกจากอ่อนในความรู้เกี่ยวกับหลักพระธรรมวินัยแล้ว แม้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการทั่วไปของคณะสงฆ์ อย่าว่าถึงชาวบ้านจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย แม้แต่ชาววัดด้วยกันแท้ๆ ก็แทบจะไม่รู้เรื่องอะไรเหมือนกัน

การเอาใจใส่ศึกษาสอบสวนประมวลความรู้-โดยเฉพาะความรู้ในหน้าที่-หายไปไหนหมด?

เวลาประกาศผลสอบบาลี เราตื่นเต้นกันมาก

เวลามีพระราชกรณียกิจ “การทรงตั้งเปรียญ” ไม่ว่าจะเป็นที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่โปรดให้สมเด็จพระสังฆราชทรงปฏิบัติหน้าที่แทน (และสมเด็จพระสังฆราชก็โปรดให้พระเถระผู้ใหญ่ปฏิบัติหน้าที่แทนอีกด้วยเป็นบางแห่งก็มี) เราก็ยิ่งตื่นเต้นกันมาก เอารูปเอาภาพความสำเร็จมาโชว์กัน เป็นที่น่าอนุโมทนา

ขอกราบอนุโมทนาสาธุมา ณ ที่นี้

แต่การบริหารจัดการเรื่องการเรียนการสอนนักธรรม+บาลี เราแทบจะไม่ได้ชำเลืองมองกันเลย

เราตื่นเต้นกันที่ผล

แต่กระบวนการที่เป็นเหตุให้เกิดผล เราไม่แทบไม่ได้สนใจ

ที่ว่ามานี้ก็คงจะมีผู้มองว่า เป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไร

เคยเป็นมาอย่างไร ก็ปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น

ตัวอย่างเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นก็อย่างเช่น –

สำนักเรียนบาลีตามวัดต่างๆ ต้องปิดตัวลง แม้จะยังมีชื่อว่าเป็นสำนักเรียน แต่การเรียนการสอนไม่มี เพราะไม่มีนักเรียน

พร้อมกันนั้นก็มีพระเณรและฆราวาสอยากเรียนบาลี แต่หาสำนักเรียนไม่ได้

อุปสงค์-อุปทาน (demand- supply) จูนคลื่นไม่ตรงกัน

เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาจริงๆ

ปัญหาก็คือ แล้วเราจะทำอย่างไรกัน? 

ทำอย่างไรจึงจะหาคนมาเรียนบาลีได้

และทำอย่างไรจึงจะหาสำนักเรียนให้คนที่อยากเรียนบาลีได้

ใครจะเป็นคนตอบปัญหาธรรมดาที่ไม่ธรรมดาแบบนี้?

ปัญหาที่จะต้องแก้ไข มี มีมากด้วย

คนที่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็มี และมีมากด้วย

แต่การลงมือแก้ปัญหา ไม่มี

นี่คือเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาในคณะสงฆ์ไทย

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๙:๐๓

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *