บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์

ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์

—————————-

สมัยผมเรียนชั้นประถม (๒๔๙๖-๒๔๙๙) ในโรงเรียนวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ยังไม่มีใครรู้จักข้อสอบแบบปรนัย

สมัยผมเรียนนักธรรม (๒๕๐๔-๒๕๐๖) ก็ยังไม่มีข้อสอบแบบปรนัย

ต่อด้วยสมัยเมื่อเรียนบาลี (๒๕๐๖-๒๕๑๕) ก็ยังไม่มีข้อสอบแบบปรนัย

จนกระทั่งผมเรียนรัฐศาสตร์ มสธ. (-๒๕๓๐) ตลอดหลักสูตรจนกระทั่งจบปริญญาตรี เชื่อหรือไม่ ผมใช้ดินสอดำหมดไปเพียงแท่งเดียว!

ทั้งนี้เพราะข้อสอบ มสธ. เป็นข้อสอบแบบปรนัยทั้งหมด ไม่ต้องเขียนอะไร-นอกจากฝนดินสอลงไปที่วงกลมในใบตอบ

เวลานี้ นักธรรม-บาลี บางชั้นบางวิชาเป็นข้อสอบแบบปรนัยกันแล้ว

ข้อสอบแบบปรนัยมีข้อดีอะไรบ้าง คงไม่ต้องอภิปราย เพราะผู้ตัดสินชี้ขาดในเวลานี้ล้วนแต่เติบโตมาในระบบข้อสอบแบบปรนัยทั้งสิ้น 

สรุปได้เพียงว่า การวัดผลการศึกษาอบรมผู้คนของเรา เราชอบหรือถนัดใช้วิธีสื่อสารด้วยสัญลักษณ์ ไม่ชอบและไม่ถนัดการสื่อสารด้วยข้อความ

เวลานี้การสื่อสารด้วยสัญลักษณ์ไม่ได้มีอยู่แต่ในการทำข้อสอบแบบปรนัย หากแต่ระบาดไปทั่วทุกวงการ

ในเฟซบุ๊กนี่เองก็เกลื่อนไปหมด

เดี๋ยวนี้จะเขียนคำว่า “ขอแสดงความยินดี” ไม่ต้องเขียนเอง เฟซบุ๊กเขียนแทนให้เสร็จ ปุ่มบริการสัญลักษณ์มีดาษดื่น มีให้เลือกเยอะแยะ ขอบคุณ ดีใจ เสียใจ ชอบ ชัง ฯลฯ ไม่ต้องใช้ข้อความ มีสัญลักษณ์ให้เลือกใช้ครบ

ศักยภาพในการสื่อสารด้วยข้อความของผู้คนลดลงไปเรื่อยๆ

จากการตอบคำถามด้วยวิธีกากบาท วงกลม ฝนดินสอ ที่ใช้เฉพาะในเวลาทำข้อสอบ เดี๋ยวนี้เราเอามาใช้กับเรื่องอื่นๆ ด้วยมากขึ้น เรื่องที่ใช้สัญลักษณ์แทนข้อความมีมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อคนไม่ต้องพูดเพราะใช้สัญลักษณ์แทนได้ ก็ไม่ต้องเขียน

เมื่อไม่ต้องเขียน ก็ลามไปถึง-ไม่ต้องอ่าน

ลักษณะนิสัยรักการอ่านก็เสื่อมถอยลงไป

วิธี รูปแบบ หรือช่องทางในการแสวงหาความรู้ก็เปลี่ยนแปรไป ไม่ต้องอ่าน ไม่ต้องฟัง ไม่ต้องพูด จะใช้วิธีแบบไหน เดี๋ยวก็มีคนคิดและพัฒนาขึ้นมาได้

………………

ในอนาคต สภาพเช่นนี้จะต้องกระทบกับกิจการพระศาสนาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการศึกษาเรียนรู้หลักพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนา

เริ่มด้วย-คนไม่อ่านพระไตรปิฎก ไม่อ่านคัมภีร์ที่เป็นภาษาหนังสือ 

พระไตรปิฎก คัมภีร์ เวลานี้คนก็ไม่ค่อยจะอ่านอยู่แล้ว

นักเรียนบาลีแท้ๆ ยังไม่อ่านเลย ไม่ต้องพูดถึงคนทั่วไป

ข้ออ้างสามัญประจำบ้านคือ ภาษาบาลีอ่านไม่รู้เรื่อง 

(ภาษาบาลีในเมืองไทยเขียนเป็นอักษรไทย อ่านไม่ออก แต่ภาษาฝรั่ง ตัวอักษรก็ฝรั่ง ภาษาก็ฝรั่ง อ่านได้คล่อง อ่านรู้เรื่องโม้ดดด ฮ่า ฮ่า ฮ่า) 

แปลเป็นภาษาไทยแล้วก็หาเรื่องต่อไปอีกว่าแปลอย่างไรคนอ่านไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่แปลให้คนอ่านรู้เรื่อง 

เป็นอันว่าไม่อ่านภาษาหนังสือ 

เข้าทางการสื่อสารด้วยสัญลักษณ์พอดี 

ในอนาคตอันไม่ไกล จะมีคนแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาสัญลักษณ์ ไม่ต้องเรียนบาลีให้หัวผุ ดูสัญลักษณ์แล้วรู้ทะลุไปถึงพระนิพพานได้เลย

อีกไม่นานก็คงมีธัมมจักกัปปวัตนสูตรฉบับภาษาสัญลักษณ์ออกมา แก้ปัญหาคนไม่อ่านหนังสือได้หมด

เห็นสัญลักษณ์แบบนี้ รู้ว่านี่คือกามสุขัลลิกานุโยค

เห็นสัญลักษณ์แบบนี้ รู้ว่านี่คืออัตตกิลมถานุโยค

เห็นสัญลักษณ์แบบนี้ รู้ว่านี่คือมัชฌิมาปฏิปทา

ถึงตอนนั้น พระไตรปิฎกภาษาบาลีเก็บเข้ากรุได้เลย

ประโยค ๙ หรือประโยค ๑๘ ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะไม่มีใครต้องพึ่งภาษาบาลีอีกแล้ว??

………………

ฟังเหมือนเรื่องตลก แต่อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้

ถ้าผู้บริหารการพระศาสนาของเรามีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ก็น่าจะต้องเตรียมคิดเรื่องนี้ได้แล้ว

จะรอให้คนที่เก่งเรื่องภาษาสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้มาเป็นคนแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาสัญลักษณ์ แล้วก็วิ่งตามแก้ปัญหาแปลผิดแปลถูกกันทีหลัง 

หรือว่าควรจะสร้างคนที่เก่งเรื่องภาษาสัญลักษณ์เป็นของเราเองเพื่อแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาสัญลักษณ์โดยเฉพาะ

การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาสัญลักษณ์นั้นโอกาสที่พระธรรมวินัยจะคลาดเคลื่อนจะมีได้ง่ายที่สุด

จะแน่ใจได้อย่างไรว่า สัญลักษณ์ที่ใช้นั้นมีความหมายตรงตามพระบาลีในพระไตรปิฎก 

พระไตรปิฎกบอกว่า “ขวา” แต่ภาษาสัญลักษณ์ชวนให้เข้าใจไปว่า “ซ้าย” จะทำอย่างไร คือจะแก้ปัญหากันอย่างไร หรือว่าควรจะคิดอ่านป้องกันไว้ก่อนได้อย่างไร

แล้วก็นิสัยของคนเดี๋ยวนี้ ขาดฉันทะอุตสาหะที่จะตรวจสอบสืบสวนข้อเท็จจริง เห็นอะไรก็กระโดดงับทันที เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะเข้าใจผิด ยึดถือผิด แล้วก็เผยแผ่กระจายเรื่องผิดๆ ก็จะยิ่งมีมากขึ้น

ในสถานการณ์เช่นนี้แหละที่ภาษาบาลีจะมีความสำคัญยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะต้นฉบับคำสอนในพระพุทธศาสนาเถรวาทบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี

จะแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษามนุษย์ต่างดาวใดๆ ก็ตาม การตัดสินว่าความข้อนั้นเป็นคำสอนที่มีในพระไตรปิฎกหรือเปล่า และแปลถูกหรือผิด ก็ต้องตัดสินกันเด็ดขาดที่พระไตรปิฎกซึ่งต้องใช้ความรู้ภาษาบาลีเป็นหลักในการวินิจฉัย

ตรงนี้แหละจะเห็นได้ว่า ในที่สุดแล้ว ความรู้ภาษาบาลีจะยิ่งจำเป็นมากขึ้น

ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า นักเรียนบาลีของเราเห็นความสำคัญในเรื่องนี้กันแค่ไหน

ขณะนี้ ความสำคัญในการเรียนบาลีที่นักเรียนบาลีในบ้านเรามองเห็นก็คือ ศักดิ์และสิทธิ์อันเกิดจากการสอบได้

ทั้งผู้เรียน ทั้งผู้สนับสนุน ต่างก็เน้นย้ำกันอยู่ที่จุดนี้ ความสำคัญที่แท้จริงของการเรียนบาลีแทบจะไม่มีใครพูดถึง

ความสำคัญที่แท้จริงของการเรียนบาลีก็อยู่ที่คำว่า “บาลี” นั่นเอง เรียกว่าอยู่ที่ปลายจมูกนี่เอง แต่เราพากันมองข้าม

“บาลี” แปลตามศัพท์ว่า “ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์”

การเรียนบาลีก็คือเรียนเพื่อจะรักษาพระพุทธพจน์

พระพุทธพจน์ก็คือพระธรรมวินัย ก็คือตัวพระศาสนา

ดังนั้น การเรียนบาลีก็คือการรักษาพระพุทธศาสนา

จะรักษาพระพุทธศาสนาก็ต้องรักษาพระพุทธพจน์

แหล่งรวมพระพุทธพจน์ที่สำคัญที่สุดในโลกคือ พระไตรปิฎก

ดังนั้น ความสำคัญที่แท้จริงของการเรียนบาลีก็จึงอยู่ที่-เรียนเพื่อจะไปศึกษาพระไตรปิฎก จึงจะรักษาพระศาสนาได้

รักษารักษาพระศาสนาได้อย่างไร ก็ดูไปที่กระบวนการศึกษาพระไตรปิฎก สรุปคือ –

๑ เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้ไปศึกษาพระไตรปิฎกให้รู้เข้าใจแจ่มชัดว่าอะไรเป็นหลักพระธรรมวินัยคือหลักคำสอนที่ถูกต้อง

๒ แล้วเอาความรู้ที่ถูกต้องนั้นมาปฏิบัติด้วยตัวเอง

๓ แล้วเผยแผ่ความรู้และข้อปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นให้แพร่หลายต่อไป

นี่คือการรักษาพระศาสนา

การเรียนบาลีต้องดำเนินไปตามกระบวนดังกล่าวนี้ จึงจะรักษาพระศาสนาไว้ได้

เรียนบาลีเพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์จากการสอบได้ ก็ต้องเอา ก็ยังต้องเอาอยู่ ไม่ได้บอกให้เลิก เพราะอย่างน้อยก็เป็นประโยชน์ในชาติปัจจุบัน

แต่ต้องต่อยอดไปให้ถึงปลายทางตามกระบวนการเรียนบาลีเพื่อรักษาพระศาสนา และต้องบอกกล่าวกันตั้งแต่บัดนี้ว่า ยอดของการเรียนบาลีอยู่ที่นั่น 

ถ้าไปไม่ถึงนั่น ก็คือบาลียอดด้วน

ถ้านักเรียนบาลีของเรามองความสำคัญของการเรียนบาลีได้ตรงจุด ผู้ดูแลรักษาพระไตรปิฎกก็จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนนักเรียนบาลี

ถึงตอนนั้น ใครจะเอาพระไตรปิฎกไปแปลเป็นภาษาสัญลักษณ์หรือภาษามนุษย์ที่มาจากดาวดวงไหนอีก ก็จะไม่หลุดรอดไปจากสายตาของชาวพุทธที่จะระวังรักษาไม่ให้พระพุทธพจน์ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ถึงตอนนั้น การเรียนบาลีก็จะไม่ใช่บาลียอดด้วน แต่เป็นการเรียนบาลีที่ถูกต้องสมกับความหมายที่ว่าบาลีคือ “ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์”

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ เมษายน ๒๕๖๕

๑๕:๓๕

…………………………………………..

ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *