บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ขยะสังคม

ขยะสังคม (๘)

ขยะสังคม (๘) 

———-

เรื่องนี้เคยโพสต์เป็นเรื่องยาวตอนเดียวจบมาแล้ว 

………………………..

เมื่อ ๒ วันก่อน (๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๒) ผมอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านได้รับกระทบเรื่องบางเรื่องตรงกับที่ผมเคยเขียนไว้-คือเรื่องนี้ 

ผมย้อนกลับไปอ่านดู ก็เลยเกิดความคิดเอามาโพสต์ให้อ่านกันอีกที แต่จะขอแบ่งเป็นตอนๆ สั้นๆ เพื่อสะดวกแก่การอ่าน 

——————————————————–

พระเถระ หรือสมาชิกชั้นผู้ใหญ่นั้นเมื่อมีคุณสมบัติอื่นอีกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระธรรมวินัยประกอบกับหลักเกณฑ์ที่สังคมสงฆ์กำหนด ก็จะมีสิทธิ์รับสมาชิกใหม่ต่อไปได้อีก

ก็คือที่เรารู้จักกันในนาม “พระอุปัชฌาย์” นั่นแล

พระภิกษุในกลุ่ม “เถระ” นั้น นอกจากทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ยังมีบางรูปทำหน้าที่เป็น “อาจารย์” ด้วย กล่าวคือพระคู่สวดในพิธีอุปสมบท เป็น “พระกรรมวาจาจารย์” รูปหนึ่ง เป็น “พระอนุสาวนาจารย์” รูปหนึ่ง โบราณถือกันว่ามีหน้าที่ช่วยเหลือพระอุปัชฌาย์ในการอบรมสั่งสอนพระนวกะที่ตนมีส่วนร่วมรับเข้าเป็นสมาชิก 

นอกจากนี้พระที่ทำหน้าที่สั่งสอนพระธรรมวินัยเรียกว่า “พระอุเทศาจารย์” ตลอดจนพระที่คอยอบรมแนะนำให้ความรู้ทั่วๆ ไป ก็เรียกรวมๆ กันว่า “พระอาจารย์”

ในภาษาไทยจึงมีคำที่นิยมพูดควบกันไปว่า “อุปัชฌาย์อาจารย์”

หน้าที่หลักของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ก็คือ แนะนำ สั่งสอน ฝึกหัด อบรมสมาชิกใหม่ให้รู้หลักพระธรรมวินัย ให้รู้การอันควรเว้นและการอันควรประพฤติ 

เฉพาะเรื่องที่สำคัญมากระดับคอขาดบาดตาย ๘ เรื่อง ท่านนิยมแนะนำสั่งสอนกันในทันทีที่เสร็จพิธีรับเข้าเป็นสมาชิกนั่นเลย ที่รู้จักกันในคำว่า “บอกอนุศาสน์” ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่แนบอยู่กับพิธีอุปสมบท

เรื่องสำคัญ ๘ เรื่องที่อยู่ในคำบอกอนุศาสน์ ก็คือ เสพเมถุน ลักของเขา ฆ่ามนุษย์ อวดอุตริมนุสธรรม (ซึ่งก็คือปาราชิก ๔ นั่นเอง) 

๔ เรื่องนี้เรียกว่า “อกรณียกิจ” ห้ามทำเด็ดขาด 

ส่วนอีก ๔ เรื่อง คือ เที่ยวบิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุล อยู่โคนไม้ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า เรียกว่า “นิสัย” เป็นการบอกวิธีเปลี่ยนวิถีชีวิตจากคฤหัสถ์มาสู่วิถีแห่งบรรพชิตว่าต้องทำอย่างไรจึงจะดำรงชีพอยู่ได้ นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ทันที

เรื่องอื่นๆ นอกจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ที่จะต้องอบรมสั่งสอนกันเรื่อยไป

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒

๐๙:๕๕

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *