ขยะสังคม
ขยะสังคม (๙)
ขยะสังคม (๙)
———-
เรื่องนี้เคยโพสต์เป็นเรื่องยาวตอนเดียวจบมาแล้ว
………………………..
เมื่อ ๒ วันก่อน (๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๒) ผมอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านได้รับกระทบเรื่องบางเรื่องตรงกับที่ผมเคยเขียนไว้-คือเรื่องนี้
ผมย้อนกลับไปอ่านดู ก็เลยเกิดความคิดเอามาโพสต์ให้อ่านกันอีกที แต่จะขอแบ่งเป็นตอนๆ สั้นๆ เพื่อสะดวกแก่การอ่าน
——————————————————–
ตามเกณฑ์นั้น สมาชิกใหม่จะต้องอยู่ในความปกครองดูแล-ซึ่งหมายความว่าจะต้องได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์-ไม่น้อยกว่า ๕ ปี ทั้งภาคทฤษฎีหรือหลักวิชาการ และภาคปฏิบัติคือความประพฤติ การวางตน การปฏิบัติกิจทั้งปวงของบรรพชิต
มีพระธรรมวินัยเป็นหลักสูตร
มีการประพฤติปฏิบัติของพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นแบบฉบับ
พ้นจาก ๕ ปีไปแล้วจึงจะสามารถไปอยู่ไกลหูไกลตาของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ได้ แต่ถึงกระนั้น การแนะนำ สั่งสอน ฝึกหัด อบรมก็ยังจะต้องทำกันเรื่อยไปตามโอกาสและเหตุการณ์ มิใช่ว่าจะจบสิ้นลงไปด้วย
สมาชิกประเภทบรรพชิต หรือสมาชิกแห่งสังฆมณฑลย่อมมีคุณภาพ (หรือด้อยคุณภาพ) เป็น ๓ ลักษณะ คือ –
๑ ทำหมู่คณะให้งดงาม นำมาซึ่งความศรัทธาเลื่อมใส จูงใจคนให้มุ่งหน้าไปในทางแห่งความดียิ่งๆ ขึ้น เรียกว่า “คณโสภกะ” ผู้ยังหมู่คณะให้งาม
๒ ปฏิบัติกิจพอเป็นไปตามปกติ ไม่มีเรื่องเสื่อมเสีย แต่ก็ไม่มีสิ่งที่ดีเด่น พูดตามภาษาราชการที่นิยมเรียกกันก็ว่า “ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ” เรียกว่า “คณปูรกะ” ผู้ทำให้ครบคณะ อยู่พอรักษาวัด หรือพอไม่ให้วัดร้าง
๓ เหยียบย่ำพระธรรมวินัย ทำหมู่คณะให้เสื่อมเสีย เรียกว่า “คณทูสกะ” ผู้ประทุษร้ายหมู่คณะ
ทุกลักษณะ ท่านว่าย่อมมีการแนะนำ สั่งสอน ฝึกหัด อบรมของพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นปากทางหรือเป็นต้นทาง
พระอุปัชฌาย์อาจารย์แนะนำ สั่งสอน ฝึกหัด อบรมดี ก็ส่งเสริมให้เป็นสมาชิกที่ดี
หรือถ้าเห็นว่าเหลือขอ จะเอาไว้ไม่อยู่ พระอุปัชฌาย์อาจารย์หาทางสกัดกั้นไว้ได้ทันท่วงที ไม่เปิดโอกาสให้อยู่ทำชั่วได้ง่ายๆ ก็เท่ากับตัดทางแห่งความเสื่อมเสียลงเสียได้
แต่ถ้าไปเจอพระอุปัชฌาย์อาจารย์ชนิดที่ไม่กล้าแตะเพราะกลัวจะเสียประโยชน์ส่วนตัวดังที่ท่านแสดงไว้ การรับสมาชิกใหม่ประเภทนั้นเข้ามาก็จะมีผลเท่ากับ “เรี่ยรายหยากเยื่อลงในศาสนานี้” นั่นแล
พอจะมองเห็นภาพชัดขึ้นนะครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒
๑๑:๑๙