ขยะสังคม
ขยะสังคม (๑๐)
ขยะสังคม (๑๐)
———-
เรื่องนี้เคยโพสต์เป็นเรื่องยาวตอนเดียวจบมาแล้ว
………………………..
เมื่อหลายวันก่อน (๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๒) ผมอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านได้รับกระทบเรื่องบางเรื่องตรงกับที่ผมเคยเขียนไว้-คือเรื่องนี้
ผมย้อนกลับไปอ่านดู ก็เลยเกิดความคิดเอามาโพสต์ให้อ่านกันอีกที แต่จะขอแบ่งเป็นตอนๆ สั้นๆ เพื่อสะดวกแก่การอ่าน
——————————————————–
คำว่า “หยากเยื่อ” ท่านแปลมาจากคำว่า “กจวร” (กะ-จะ-วะ-ระ)
พจนานุกรมบาลีที่ฝรั่งทำ แปล “กจวร” ว่า sweepings, dust, rubbish (ของที่กวาดทิ้ง, ฝุ่น, ขยะ)
พระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นระบบที่ให้เกียรติกัน ให้สมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสังคมของคนที่เจริญแล้ว คือเคารพกติกาที่ถูกต้องชอบธรรม มีระบบคัดกรองสมาชิก มีระบบฝึกหัดศึกษาเพื่อการพัฒนาขัดเกลา มีระบบส่งเสริมสมาชิกที่ดีและกำราบสมาชิกที่ร้าย
ขอเพียงแต่ให้ยึดหลักพระธรรมวินัยไว้ให้มั่นคงเท่านั้น
สมาชิกระดับเถระที่ร่วมอยู่ในกระบวนการคัดสรรรับสมาชิกใหม่ ถ้าเอาใจใส่ในการแนะนำ สั่งสอน ฝึกหัด อบรมศิษยานุศิษย์ให้เป็นสมาชิกที่ดีตามหน้าที่ตามพระธรรมวินัย ก็เท่ากับนำเอาดอกไม้มาปลูกหรือมาโปรยปรายไว้ในพระศาสนา
แต่ถ้าได้รู้เห็นความประพฤติปฏิบัติที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสีย แต่กลับเพิกเฉยเลยละ ก็เท่ากับนำเอาหยากเยื่อหรือขยะมาเทใส่ไว้ในพระศาสนา ดังที่อรรถกถาท่านว่าไว้ข้างต้นนั้นแล
ท่านแสดงลักษณะของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ดีตามพุทธประสงค์ กล่าวคือ เมื่อเห็นสมาชิกที่อยู่ในการปกครองดูแลของตนกำลังประพฤติการอันควรเว้นหรือเว้นการอันควรประพฤติ ก็มิได้อยู่นิ่งเฉย หรือออกมาปกป้องแบบช่วยคนผิด หากแต่ –
๑ ตชฺเชนฺโต = ทำให้กลัว, ขู่; ดุด่า, ว่ากล่าว (frighten, threaten; curse, rail against)
๒ ปณาเมนฺโต = คัดออก, ขับออก, ไล่ออก (make go away, turn someone away, give leave, dismiss) หมายถึงทำให้หมดสิทธิ์บางอย่างที่สมาชิกปกติจะพึงได้รับ
๓ ทณฺฑกมฺมํ กโรนฺโต = ทำทัณฑกรรม (penance) คือลงโทษตามวิธีการของอารยชน เช่นให้ทำงานหนัก ให้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
๔ วิหารา นีหรนฺโต = ไล่ออกจากสำนัก (take out, throw out, drive out) ในกรณีที่เห็นว่าเหลือขอจริงๆ ศิษย์เหลือขอบางคนพอถูกไล่ออกแล้วเกิดสำนึกผิด กลับตัวเป็นคนดีได้ก็มี
การกระทำทั้งปวงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการ “สิกฺขาเปติ” คือให้สำเหนียกสำนึกในการที่จะศึกษาพัฒนาปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้นเจริญขึ้น มิใช่เคียดแค้นชิงชังตั้งใจจะทำลายให้ย่อยยับ
เมื่อถูกขนาบเช่นนั้นแล้ว ใครอดทนได้ ตั้งใจพัฒนาตนเองไม่ท้อถอย ก็จะประสบความสำเร็จคือบรรลุมรรคผลหรือคุณธรรมชั้นใดชั้นหนึ่งอันเป็นจุดหมายที่ถูกต้องของผู้ที่เข้ามาอยู่ในพระศาสนานี้
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒
๐๙:๔๐