บาลีวันละคำ

ขม = ข่ม (บาลีวันละคำ 4,134)

ขม = ข่ม

คำที่น่าลากเข้าวัด

ขม” ที่ยกขึ้นตั้งในที่นี้เป็นคำบาลี อ่านว่า ขะ-มะ รากศัพท์มาจาก ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + (อะ) ปัจจัย

: ขมฺ + = ขม แปลตามศัพท์ว่า “อดกลั้น” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –

(1) อดทน (patient)

(2) อภัยให้ (forgiving)

(3) อดกลั้น, ทนได้, แข็งแกร่งต่อ [ความหนาวและความร้อน] (enduring, bearing, hardened to [frost & heat])

(3) เหมาะแก่ (fit for)

ขม” ถ้าเป็นคำกริยา (ปฐมบุรุษ เอกพจน์) เป็น “ขมติ” (ขะ-มะ-ติ) มีความหมายดังนี้ –

1 อดทน, อดกลั้น, ให้อภัย (to be patient, to endure, to forgive)

2 เหมาะสม, ดูเหมือนจะดี (to be fit, to seem good)

3 เหมาะเจาะ, ตามใจชอบ, เห็นชอบด้วย (to be fit for, to indulge in, to approve of)

ถ้าเป็น “ขมาเปติ” (ขะ-มา-เป-ติ ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า เหตุกรรตุวาจก ไวยากรณ์ไทยเรียก การิตวาจก) มีความหมายว่า ทำให้สงบ, ขอให้ยกโทษ, สั่งให้ขอโทษ (to pacify, to ask one’s pardon, to apologize)

ถ้าพูดว่า “ข้าพเจ้าขอโทษ” (I beg your pardon) คำกริยาภาษาบาลีว่า “ขมามิ” (ขะ-มา-มิ)

อภิปรายขยายความ :

(1) ในภาษาไทยมีคำว่า “ขมา” เช่น “ขอขมา” อาจกร่อนมาจากเสียงคำกริยา “ขมาเปติ” หรือ “ขมามิ” ในบาลี 

(2) อีกนัยหนึ่ง “ขม” (ขะ-มะ) ในบาลีนั่นเอง แต่ออกเสียงพยางค์ท้ายยืดไปแบบหยุดไม่สนิท ขะ-มะ จึงเป็น ขะ-มา

(3) “ขม” ในบาลีมีความหมายเหมือน “ขันติ” ที่เราแปลกันว่า “ความอดทน” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ขนฺติ” ว่า patience, forbearance, forgiveness (ความอดทน, ความอดกลั้น, การให้อภัย)

(4) “ขม” ในบาลี เป็น “กฺษม” ในสันสกฤต 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กฺษม” (คำเดียวกับที่พจนานุกรมฯ ว่า “กฺษมา”) บอกไว้ดังนี้ –

กฺษม : (คำวิเศษณ์) มีความเพียร, มีความอดกลั้น; งดเว้น; สามารถ; มีความกรุณา; สมควร, เหมาะ; patient, enduring; forbearing or refraining from; adequate or able, suitable, fit;- (คำนาม) ความเพียร; โลก; คืน, ค่ำ, ราตรีกาล; นามพระทุรคา; ความเหมาะ; patience; the earth; night; a name of Duragā; propriety or fitness.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “กษมา” บอกไว้ว่า – 

กษมา ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) ความอดกลั้น, ความอดโทษ, เช่น พระกษมาเสมอหล้า สี่แดน. (ยวนพ่าย). (คำกริยา) กล่าวคําขอโทษ, โดยมากใช้ว่า ษมา. (ส. กฺษมา; ป. ขมา).”

(5) ในภาษาไทยมีคำว่า “ข่ม” เป็นคำกริยา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ – 

(๑) ใช้กำลังกดลงไม่ให้เผยอขึ้น

(๒) สานลายด้วยการใช้เส้นตอกเป็นต้นที่เป็นเส้นสานขัดทับอยู่ข้างบนเส้นตอกที่เป็นเส้นยืน ตรงข้ามกับคำ ยก คือ ใช้เส้นสานลอดใต้เส้นยืน เช่น ยก ๒ ข่ม ๒

(๓) โดยปริยายหมายความว่า แสดงกิริยาวาจาให้เห็นว่าเหนือกว่า หรือทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าด้อยกว่า เช่น แต่งตัวข่มเพื่อน พูดข่ม, บังคับ เช่น ข่มใจ ข่มอารมณ์

(๔) ครอบ.

ความหมายในข้อ (๓) ที่ว่า “บังคับ เช่น ข่มใจ ข่มอารมณ์” ตรงกับความหมายของ “ขม” (ขะ-มะ) ของบาลีพอดี

ดีร้าย “ข่ม” ในภาษาไทยอาจมาจาก “ขม” (ขะ-มะ) ในบาลีนี่เอง

นี่เป็นความเห็นทางวิชาการ ไม่ใช่คำสรุปยุติ หรือชวนให้เชื่อ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: “ขม” คือ “ข่ม” ไม่ได้สอนให้นิยมการเก็บกด

: แต่สอนให้รู้จักลดอารมณ์ร้อน

#บาลีวันละคำ (4,134)

7-10-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *