ขยะสังคม
บทคัดย่อ
การช่วยกันชี้ข้อบกพร่องของสมาชิกในสังคมเพื่อนำไปสู่การแก้ไข คือการช่วยกันเก็บขยะ
การปล่อยปละละเลย โดยอ้างเหตุต่างๆ – โดยเฉพาะ “ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน…” คือการทิ้งขยะไว้ในสังคม
ในการยกเอาข้อบกพร่องของสมาชิกในสังคมขึ้นมาพูด มีคำอยู่ ๒ คำที่ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน คือ จับผิด และ ชี้โทษ
ผู้คอยตำหนิติติงคนอื่น ท่านเรียกเป็นศัพท์ว่า “วชฺชทสฺสี” (วชฺช + ทสฺสี)
“วชฺช” แปลว่า โทษ เช่นในคำว่า วัชพืช คือพืชที่เป็นโทษ
“ทสฺสี” แปลว่า ผู้แสดง คือผู้ชี้ให้ดู
วัชชทัสสีมี ๒ ประเภท
ประเภทหนึ่งเรียกว่า “รนฺธคเวสโก” (รนฺธ + คเวสโก)
“รนฺธ” แปลว่า โพรง, รอยแยก, รอยเปิด; รอยตำหนิ, ข้อบกพ่อง, จุดอ่อน (opening, cleft, open spot; flaw, defect, weak spot)
“คเวสโก” แปลว่า “ผู้แสวงหา”
“รนฺธคเวสโก” จึงแปลว่า ผู้แสวงหาจุดอ่อน, ผู้คอยจ้องจับผิด
หมายความว่า ความผิดหรือความเสียหายนั้นยังไม่เกิด ยังไม่มี ยังไม่ปรากฏ และจะมีหรือเปล่าก็ไม่ทราบ จึงต้องไปเที่ยวแสวงหา
คนอื่นเขาอยู่ของเขาดีๆ ไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอะไร ก็ไปเที่ยวคอยจ้องมองหาข้อบกพร่องของเขา หรือไปเที่ยวขุดคุ้ยดูว่าเขาเคยทำผิดอะไรมาบ้าง ด้วยเจตนาจะใช้เป็นเหตุหาเรื่องทำให้เขาเสียหาย
อย่างนี้คือ “จับผิด”
อีกประเภทหนึ่ง ท่านเรียกว่า “นิคฺคยฺหวาที” (นิก-ไค-หะ-วา-ที) แปลว่า “ผู้มีปกติกล่าวข่ม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิคฺคยฺหวาที” ว่า one who speaks rebukingly, censuring, reproving, resenting (ผู้กล่าวตำหนิ, ติเตียน, ว่ากล่าว, ไม่เห็นด้วย, ไม่ชอบ) ออกจากคำกริยาว่า “นิคฺคณฺหาติ” ซึ่งแปลว่า รั้งไว้, ห้ามปราม, ดุ, ว่ากล่าว, ตำหนิ
นิคฺคยฺหวาที-กล่าวข่ม นี่แหละคือผู้ชี้โทษ
“ชี้โทษ” หมายถึงข้อบกพร่องหรือความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องแสวงหา เพราะมีผู้ทำให้ปรากฏขึ้นแล้ว แต่ผู้ทำไม่รู้ตระหนักว่าการกระทำนั้นเป็นโทษ เป็นความเสียหาย จึงต้อง “ชี้” ให้ดู
“ชี้โทษ” นั้นบัณฑิตย่อมทำโดยแยบคาย ถ้าไม่เห็นประโยชน์เป็นอย่างอื่นก็มักแอบเตือนกันเงียบๆ เพื่อไม่ให้เสียหน้า มุ่งให้เจ้าตัวรู้และแก้ไขเป็นที่ตั้ง
แต่ “จับผิด” นั้นมีเจตนาจะให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง เพราะฉะนั้นจะไม่ทำเงียบๆ แต่จะต้องเปิดโปงให้คนทั่วไปรู้ด้วย
จับผิดเป็นกิจที่ไม่ควรทำ
ชี้โทษเป็นกิจที่ควรทำ
คนส่วนมากแยกแยะไม่ออกว่า อย่างไรคือการจับผิด อย่างไรคือการชี้โทษ เมื่อมีการยกข้อบกพร่องหรือการกระทำผิดพลาดของใครสักคนขึ้นมาว่ากล่าวกัน ก็มักเหมารวมกันไปหมดว่าเป็นการจับผิด
การไม่รู้จักแยกแยะว่า อย่างไรคือจับผิดและอย่างไรคือชี้โทษ เป็นเรื่องที่ควรจะต้องปรับทัศนคติกันใหม่ทั้งหมด