ขยะสังคม
ขยะสังคม (๕)
ขยะสังคม (๕)
———-
เรื่องนี้เคยโพสต์เป็นเรื่องยาวตอนเดียวจบมาแล้ว
………………………..
เมื่อ ๒ วันก่อน (๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๒) ผมอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านได้รับกระทบเรื่องบางเรื่องตรงกับที่ผมเคยเขียนไว้-คือเรื่องนี้
ผมย้อนกลับไปอ่านดู ก็เลยเกิดความคิดเอามาโพสต์ให้อ่านกันอีกที แต่จะขอแบ่งเป็นตอนๆ สั้นๆ เพื่อสะดวกแก่การอ่าน
——————————————————–
ท่านประมวลลักษณะและความมุ่งหมายแห่งการชี้โทษไว้ดังนี้ –
๑ ต้องการยกคนที่ตนชี้โทษนั้นให้ก้าวขึ้นมาจากความเสื่อมเสียด้วยความปรารถนาดี แต่มิใช่ด้วยวิธีช่วยปกปิดความผิดหรือคอยออกรับแก้ตัวให้ (อุลฺลุมฺปนวเสน สภาวสณฺฐิโต ผู้ดำรงอยู่แล้วตามสภาพ ด้วยสามารถแห่งการอุ้มชู)
๒ หาจุดอ่อนที่จะทำให้เสื่อมเสียเพื่อจะได้ช่วยป้องกันแก้ไข (ตํ ตํ วชฺชํ โอโลกเนน ด้วยการแลดูโทษนั้นๆ)
๓ ต้องการให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้ (อญฺญาตญฺญาปนตฺถาย เพื่อต้องการจะให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้)
๔ อะไรที่รู้แล้วก็จะได้ปฏิบัติตามได้ถูกต้อง เช่นควรเว้นก็เว้นถูก ควรประพฤติก็ประพฤติถูก (ญาตํ อนุคฺคณฺหนตฺถาย เพื่อต้องการจะได้ถือตามเอาสิ่งที่รู้แล้ว)
๕ เพื่อพัฒนาผู้นั้นให้เจริญด้วยคุณความดียิ่งๆ ขึ้น (สีลาทีนมสฺส วุฑฺฒิกามตาย เพราะความเป็นผู้ปรารถนาความเจริญแห่งคุณมีศีลเป็นต้นแก่ผู้นั้น)
คนที่มีสติ เมื่อมีผู้ตักเตือนชี้โทษ ท่านว่าไม่ควรโกรธขุ่นเคืองขัดใจ (หน็อยแน่ มาว่าเราได้ !) แต่ควรจะดีใจที่มีผู้คอยชี้บอกข้อบกพร่อง แทนที่จะโกรธ ควรจะขอบคุณเขาด้วยซ้ำไป
ตัวอย่างคำพูดของผู้ถูกเตือนที่แสดงถึงการสำนึกถึงบุญคุณของผู้เตือน
………..
การที่ท่านทักท้วงตักเตือนตำหนิข้าพเจ้านั้นแม้ท่านจะมิได้เป็นครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าโดยตรง แต่ท่านก็ได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าด้วย นับว่าเป็นพระคุณอย่างใหญ่หลวง วันข้างหน้าถ้าท่านเห็นข้าพเจ้าทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควรเช่นนี้อีก ขอได้โปรดทักท้วงตักเตือนข้าพเจ้าอีกด้วยเถิด
………..
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๒
๑๓:๕๑