บาลีวันละคำ

ยุคล (บาลีวันละคำ 282)

ยุคล

อ่านว่า ยุ-คะ-ละ

ในภาษาไทยใช้เหมือนกัน อ่านว่า ยุ-คน ถ้ามีศัพท์อื่นต่อท้าย อ่านว่า ยุ-คน-ละ-

ยุคล” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกอบกันอยู่” หมายถึงคู่, ทั้งสอง, สิ่งที่เป็นคู่กัน เช่น ยุคลบาท (ยุ-คน-ละ-บาด) = เท้าทั้งคู่

ยุคล” มีรากเดียวกับ “ยุค” (ยุ-คะ) ความหมายเดิมคือ ไม้ขวางเทียมคันไถหรือเกวียน คือแอก ซึ่งปกติใช้โคสองตัว (“ยุค” ความหมายนี้ใกล้กับภาษาอังกฤษ yoke = แอก, นำมาเข้าคู่, เทียมแอก)

ยุค” จึงกลายความหมายเป็น “คู่” คือสองตัว หรือสองชิ้น และหมายถึงสิ่งที่เป็นคู่กันอยู่โดยปกติ

และเมื่อมองไปที่ชายหญิงที่ครองคู่กันแล้วมีลูกสืบเชื้อสาย ช่วงอายุขัยของคนคู่หนึ่งจึงเรียกว่า “ยุค” (ภาษาไทยอ่านว่า “ยุก”) “ยุค” จึงขยายความหมายไปอีกเป็น-คราว, สมัย, ระยะกาลที่จัดแบ่งตามช่วงอายุของคนและตามเหตุการณ์หรือสภาพความเป็นไปของโลก

คิดดู – มีคู่ก็คือเทียมแอก

: ช่วยกันลากช่วยกันแบก จะไม่ต้องแยกจากกัน

: ถ้าไม่ช่วยลากช่วยแบก คู่ก็แหลกกลางคัน

(กราบขอบพระคุณท่านพระมหาอาทิตย์ อาทิตฺตเมธี ที่เมตตาชี้แนะ)

บาลีวันละคำ (282)

15-2-56

ยุค =คู่, สิ่งที่เป็นคู่กัน, แอก (ศัพท์วิเคราะห์)

ยุชตีติ ยุคํ สิ่งที่ประกอบกันอยู่

ยุช ธาตุ ในความหมายว่าประกอบ อ ปัจจัย แปลง ช เป็น ค

ยุคล =คู่, สิ่งที่เป็นคู่กัน (ศัพท์วิเคราะห์)

ยุชตีติ ยุคํ สิ่งที่ประกอบกันอยู่

ยุช ธาตุ ในความหมายว่าประกอบ อล ปัจจัย แปลง ช เป็น ค

ยุค นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

คู่, แอก, คราว, สมัย.

ยุค (ประมวลศัพท์)

คราว, สมัย, ระยะกาลที่จัดแบ่งขึ้นตามเหตุการณ์หรือสภาพความเป็นไปของโลก

ยุค (บาลี-อังกฤษ)

– แอก, ไม้ขวางเทียมคันไถ

– (สิ่งที่ถูกเทียมหรือควรเข้ากับแอก) คู่หนึ่ง, สองตัว

– (เกี่ยวเนื่องโดยสืบสาย) ชั่วคน, ยุค

ยุค ๑

น. แอก. (ป., ส.).

ยุค ๒

น. คู่, ทั้งสอง. (ป., ส.).

ยุค ๓

น. คราว, สมัย, เช่น ยุคมืด ยุคหิน; กําหนดเวลาของโลก มี ๔ ยุค. (ดู จตุรยุค). (ป., ส.).

ยุคล

ว. คู่, ทั้งสอง. (ป., ส.).

ยุคลบาท

 [ยุคนละบาด] น. เท้าทั้งคู่. (ป., ส.).

ยุคล (บาลี-อังกฤษ)

สอง, คู่ (ยุคลํ กโรติ เอามาคู่กัน, เชื่อมโยงกัน, ทำให้เป็นหนึ่งหรือให้รวมกัน)

jugulum = “yoke-bone” กระดูกแก้ม เทียบ yoking strap สายรัดแอก

yoke แอก, นำมาเข้าคู่, เทียมแอก, ประสาน (สอ เสถบุตร)

jugular เกี่ยวกับคอ (สอ เสถบุตร)

กัลป์ (ข้อความบางตอน) (ประมวลศัพท์)

ในศาสนาฮินดู ถือว่า ๑ กัป (รูปสันสกฤตเป็น กัลป์) อันเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม (กลางวันเป็นอุทัยกัป คือกัปรุ่ง, กลางคืนเป็นขัยกัป คือกัปมลาย) ตั้งแต่โลกเริ่มต้นใหม่จนประลัยไปรอบหนึ่งนั้น มี ๒,๐๐๐ มหายุค แต่ละมหายุคยาว ๔,๓๒๐,๐๐๐ ปี โดยแบ่งเป็น ๔ ยุค (จตุยุค, จตุรยุค) เริ่มจากระยะกาลที่มนุษย์มีศีลธรรมและร่างกายสมบูรณ์งดงาม แล้วเสื่อมทรามลง และช่วงเวลาของยุคก็สั้นเข้าตามลำดับ คือ

        ๑. กฤตยุค ยุคที่โลกอันพระพรหมสร้างเสร็จแล้ว มีความดีงามสมบูรณ์อยู่ ดังลูกเต๋าด้าน ‘กฤต’ ที่มี ๔ แต้ม เป็นยุคดีเลิศ ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปี (สัตยยุค คือยุคแห่งสัจจะ ก็เรียก; ไทยเรียก กฤดายุค)

        ๒. เตรตายุค ยุคที่มีความดีงามถอยลงมา ดังลูกเต๋าด้าน ‘เตรตา’ ที่มี ๓ แต้ม ยังเป็นยุคที่ดี ๑,๒๙๖,๐๐๐ ปี (ไทยเรียก ไตรดายุค)

        ๓. ทวาปรยุค ยุคที่ความดีงามเสื่อมทรามลงไปอีก ดังลูกเต๋าด้าน ‘ทวาปร’ ที่มี ๒ แต้ม เป็นยุคที่มีความดีพอทรงตัวได้ ๘๖๔,๐๐๐ ปี (ไทยเรียก ทวาบรยุค)    

        ๔. กลียุค ยุคที่เสื่อมทรามถึงที่สุด ดังลูกเต๋าด้าน ‘กลิ’ ที่มีเพียงแต้มเดียว เป็นยุคแห่งความเลวร้าย ๔๓๒,๐๐๐ ปี

จตุรยุค

น. ยุคทั้ง ๔ คือ กฤดายุค ไตรดายุค ทวาบรยุค กลียุค.

กฤดายุค

 [กฺริดา-] น. ชื่อยุคแรกของจตุรยุคตามคติของพราหมณ์ ในยุคนี้มนุษย์มีธรรมะสูงสุด คือ เต็ม ๔ ใน ๔ ส่วน และมีอายุยืนยาวที่สุด. (ส. กฺฤตยุค) ไตรดายุค

 [ไตฺร-] น. ชื่อยุค ที่ ๒ ของจตุรยุคตามคติของพราหมณ์ ในยุคนี้ธรรมะและอายุของมนุษย์ลดลงเหลือ ๓ ใน ๔ ส่วนเมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค. (ส. เตฺรตายุค; ป. เตตายุค)

ทวาบรยุค

 [ทะวาบอระ-] น. ชื่อยุคที่ ๓ ของจตุรยุคตามคติของพราหมณ์ ในยุคนี้ธรรมะและอายุของมนุษย์ลดลงเหลือเพียง ๒ ใน ๔ ส่วนเมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค.

กลียุค

 [กะลี-] น. ชื่อยุคที่ ๔ ของจตุรยุคตามคติของพราหมณ์ ในยุคนี้ธรรมะของมนุษย์ลดลงเหลือเพียง ๑ ใน ๔ ส่วน เมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค และอายุของมนุษย์ก็สั้นลงโดยไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน. (ป., ส. กลิยุค).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย