กาลามสูตร
กาลามสูตร : ช่วยกันพูดให้ถูก
—————————
……………..
วันที่ผมเขียนเรื่องนี้เป็นวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐
ตอนเช้าผมเข้าไปไหว้พระที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี ได้เห็นโรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) กำลังเตรียมพิธีไหว้ครู
และขณะที่กำลังสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่าน ผอ.โรงเรียนก็ขับรถมารอรับหลวงพ่อไปเป็นประธานในพิธี
ผมก็เลยเกิดแรงขับให้เขียนเรื่องนี้
……………..
ถ้าเอ่ยชื่อ “กาลามสูตร” เชื่อว่าคนส่วนมากจะร้องอ๋อ หลายคนอาจเคยพูดพาดพิงคำว่า “กาลามสูตร” มาแล้วด้วย เช่น –
ผมยึดหลักกาลามสูตร ผมไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หรอก
โดนหลอกอีกแล้วสิ ไม่รู้จักใช้กาลามสูตรก็ยังงี้แหละ
ฯลฯ
ฯลฯ
แต่กระนั้น เท่าที่สังเกต คนส่วนมากยังเข้าใจผิดเรื่องกาลามสูตร และเข้าใจผิดในสาระสำคัญเสียด้วย
เริ่มจากชื่อไปก่อน
พระสูตรนี้เคยได้ยินมีคนเรียกว่า “กะลามะสูตร” บ้าง “กาละมะสูตร” บ้าง
ในต้นฉบับบาลีท่านไม่ได้ตั้งชื่อไว้ แต่ในอรรถกถาเรียกชื่อว่า “เกสปุตติยสูตร” หรือ “เกสปุตตสูตร” เพราะทรงแสดงแก่ชาวเกสปุตตนิคม
แต่ชื่อสามัญที่รู้จักกันมากที่สุดคือ “กาลามสูตร” เพราะชาวเกสปุตตนิคมเป็นชนเผ่ากาลามะ
กา-ลา-มะ-
ไม่ใช่ กา-ละ-มะ-
และไม่ใช่ กะ-ลา-มะ-
เรียกชื่อผิดก็ยังพอว่า (แต่ควรเรียกให้ถูก) แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือเข้าใจสาระสำคัญผิดพลาด
คือคนส่วนมากที่นำกาลามสูตรไปอ้าง มักจะเข้าใจว่า กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อ-
เรื่องที่ชอบยกไปอ้างกันมากว่า กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อก็คือ ตำรา และครู
กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อตำรา
กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู
(นอกจากสองเรื่องนี้แล้ว ในตัวพระสูตรยังมีอีก ๘ เรื่อง)
โปรดทราบว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์
ใครเอาไปอ้างอย่างนี้ก็เท่ากับอ้างผิดอย่างมหันต์ไปด้วย
เรียกตามสำนวนบาลีก็ว่า “กล่าวตู่พุทธพจน์”
คือพระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างหนึ่ง แต่เอาไปพูดเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ถือว่าเป็นผิดเป็นโทษที่ร้ายแรงมาก
ผมเคยเห็นท่านผู้มีชื่อท่านหนึ่ง (ถ้าเอ่ยชื่อก็จะมีคนรู้จักไปทั่วประเทศ ท่านได้รับยกย่องให้เป็น–อะไรแห่งชาติด้วย) เอารูปเด็กไหว้ครูมาลงในคอลัมน์ที่ท่านเขียน แล้วก็เอาคำในกาลามสูตรที่ท่านเข้าใจผิดเหมือนคนทั้งหลายนั่นแหละมาลงกำกับไว้เป็นใจความว่า กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู
คือจะบอกเป็นนัยให้รู้ว่า การไหว้ครูนั้นเป็นเรื่องงมงาย โดยยกเอากาลามสูตรที่ตนเข้าใจผิดนั้นมาสนับสนุน
ถอดเป็นสำนวนลูกทุ่งบ้านปากท่อก็ว่า-จะมามัวไหว้ครูหาสวรรค์วิมานอะไรกัน พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้เชื่อครู ไม่แหกตาดูกาลามสูตรกันมั่งรึไง-ประมาณนี้
คนส่วนใหญ่ที่ได้อ่านกาลามสูตร ก็คืออ่านจากสำนวนที่ท่านแปลจากบาลีเป็นไทย แต่ผมโชคดีหน่อยที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้รู้ภาษาบาลีพออ่านออกเขียนได้ จึงพอจะอ่านต้นฉบับบาลีได้เองโดยตรง
ภาษาบาลีนั้นมีกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ที่รัดกุม เมื่อมีเจตนาจะแสดงความหมายว่าอย่างไร สามารถใช้หลักไวยากรณ์กำกับให้ข้อความนั้นแสดงความหมายตามเจตนานั้นได้อย่างชัดเจน ไม่เบี่ยงเบนไปเป็นอย่างอื่นที่ผิดจากเจตนา
และเพราะ-ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเลือกที่จะใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาที่บันทึกคำสอนในพระพุทธศาสนา เพื่อจะรักษาความเที่ยงตรงถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้
ที่เอาไปอ้างว่ากาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อตำรา ตัวบทในบาลีท่านใช้คำว่า –
“มา ปิฏกสมฺปทาเนน”
แปลว่า อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ (Be not led by the authority of texts)
และที่ว่ากาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู ตัวบทบาลีว่า –
“มา สมโณ โน ครูติ”
แปลว่า อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (Be led not by the idea, ‘This is our teacher’)
ทั้งภาษาบาลี ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ (ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [317]) ไม่มีภาษาไหนบอกเลยว่า อย่าเชื่อตำรา อย่าเชื่อครู
ความหมายในต้นฉบับบาลีนั้นท่านบอกว่า –
อย่าปลงใจเชื่อ “ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์”
อย่าปลงใจเชื่อ “เพราะนับถือว่าท่านนี้เป็นครูของเรา”
ขออธิบายด้วยสำนวนของผมเอง
สมมุติว่า X คือข้อเท็จหรือข้อจริงในตำรา
สมมุติว่า A คือครูที่เรานับถือ และ B คือครูที่เราไม่นับถือ
สำรับตำรา: หน้าที่ของเราคือพิสูจน์ว่า X เป็นเท็จหรือเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแค่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็น X หรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ถ้าสิ่งที่มีอยู่ใน X เป็นข้อจริง เราก็เชื่อ X ได้ แต่ถ้าสิ่งที่มีอยู่ใน X เป็นข้อเท็จ เราจึงจะไม่เชื่อ X
นั่นคือเชื่อเพราะเท็จหรือเพราะจริง ไม่ใช่เชื่อเพราะเป็น X หรือไม่เชื่อเพราะไม่ใช้ X
สำหรับครู: หน้าที่ของเราคือพิสูจน์ว่า A และ B เอาข้อเท็จหรือข้อจริงมาบอกเรา ไม่ใช่เพียงแค่รู้ว่าผู้ที่มาบออกเราเป็น A หรือเป็น B
ถ้าสิ่งที่ A หรือ B นำมาบอกเราเป็นจริง เราจึงเชื่อ ถ้าเป็นเท็จ เราก็ไม่เชื่อ
ไม่ใช่ว่าถ้า A เป็นคนบอก ไม่ว่าเท็จหรือจริงเราก็เชื่อทั้งนั้น เพราะ A คือครูที่เรานับถือ แต่ถ้า B เป็นคนบอก ไม่ว่าเท็จหรือจริง เราก็ไม่เชื่อทั้งนั้น เพราะ B คือครูที่เราไม่นับถือ
นั่นคือเชื่อเพราะเท็จหรือเพราะจริง ไม่ใช่เชื่อเพราะเป็น A และไม่เชื่อเพราะเป็น B
กาลามสูตรไม่ได้บอกเลยว่า “อย่าเชื่อตำรา”
ตำราเชื่อได้ แต่กาลามสูตรบอกว่า “อย่าเชื่อเพียงเพราะเห็นว่ามันเป็นตำรา”
กาลามสูตรไม่ได้บอกเลยว่า “อย่าเชื่อครู”
ครูก็เชื่อได้ แต่กาลามสูตรบอกว่า “อย่าเชื่อเพียงเพราะเห็นว่าเป็นครู”
เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอความกรุณาอย่าเที่ยวเอาไปพูดว่า –
กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อตำรา
กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู
ขอความกรุณาช่วยกันศึกษาตัวกาลามสูตรเต็มๆ ให้เข้าใจจริงๆ เสียก่อนแล้วจึงเอาไปพูดต่อ
แล้วก็อย่าถามผมว่าจะศึกษากาลามสูตรได้ที่ไหน
ถ้ายังไม่รู้ว่าจะศึกษากาลามสูตรได้ที่ไหน ก็ขอให้เข้าไปในวัดใกล้บ้าน ไปนมัสการถามพระท่าน โดยเฉพาะพระที่เป็นเจ้าอาวาส
ถ้าพระท่านไม่ทราบ ก็นมัสการท่านไปว่า แล้วเมื่อไรจะทราบ
และย้ำไปด้วยว่า อีก ๗ วันจะมาขอคำตอบอีกทีนะขอรับ/นะเจ้าคะ
วิธีนี้จะช่วยให้วัดกลับมาเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องได้อีกวาระหนึ่ง
ขอแรงช่วยกันหน่อยนะครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐
๑๙:๒๔