ปาฏลีบุตร (บาลีวันละคำ 1,786)
ปาฏลีบุตร
อ่านว่า ปา-ตะ-ลี-บุด
แยกศัพท์เป็น ปาฏลี + บุตร
(๑) “ปาฏลี”
อ่านว่า ปา-ตะ-ลี รากศัพท์มาจาก ปฏฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อล ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ ป-(ฏฺ) เป็น อา (ปฏฺ > ปาฏ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ปฏฺ + อล = ปฏล > ปาฏล + อี = ปาฏลี แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่เป็นไปปกติ” (คือมีอยู่ตามธรรมชาติ)
“ปาฏลี” แปลกันว่า แคฝอย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า the trumpet flower, Bignonia Suaveolens (ดอกแคฝอย, ดอกปาฏลี)
(๒) “บุตร”
บาลีเป็น “ปุตฺต” (ปุด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปู (ธาตุ = สะอาด, ชำระ) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ, รัสสะ อู ที่ ปู เป็น อุ (ปู > ปุ)
: ปู + ตฺ + ต = ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นเหตุให้บิดามารดาสะอาด” (คือไม่ถูกตำหนิว่าไม่มีผู้สืบสกุล) (2) “ผู้ชำระตระกูลของตนให้สะอาด” (คือทำให้ตระกูลมีผู้สืบต่อ)
(2) ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม) + ต ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ,(ปูรฺ > ปูตฺ), รัสสะ อู ที่ ปู-(รฺ) เป็น อุ (ปูร > ปุร)
: ปูรฺ + ตฺ = ปูรต > ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”
(3) ปุสฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + ต ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ปุสฺ > ปุ), ซ้อน ตฺ
: ปุสฺ > ปุ + ตฺ + ต = ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันมารดาบิดาเลี้ยงดู”
“ปุตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ลูกชาย (a son)
(2) เด็ก, ผู้สืบสกุล (child, descendant)
ปาฏลี + ปุตฺต = ปาฏลิปุตฺต เป็นชื่อเมืองในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า “เมืองปาตลีบุตร” เหตุที่ได้ชื่อเช่นนี้มีคำอธิบายว่า –
(1) เพราะเป็นเมืองที่มีต้น ปาฏลีรุ่นๆ (ตรุณปาฏลี = ต้นแคฝอยที่เพิ่งแตกหน่อเจริญงอกงาม) ขึ้นอยู่ในที่สร้างเมือง
(2) เพราะเป็นเมืองที่บุตรของนายบ้านชื่อ ปฏลิ อยู่มาแต่เดิม คือเดิมสถานที่ตรงนั้นมีหัวหน้าหมู่บ้านคนหนึ่งชื่อ “ปฏลิ” ตั้งบ้านเรือนอยู่ ต่อมาบุตรของนายปฏลิ (ปฏลิปุตฺต) ก็ได้อาศัยอยู่สืบมา เมื่อมาเลือกที่ตรงนั้นเป็นที่สร้างเมือง จึงได้ตั้งชื่อเมืองว่า “ปาฏลิปุตฺต” แปลว่า เมืองที่สร้างขึ้นบนที่ดินซึ่งบุตรของนายปฏลิอาศัยอยู่
ถ้าเทียบกับเหตุการณ์สมัยนี้ก็เทียบได้กับ-สุภาพสตรีชื่อ “วรณี” ยกที่ดินให้สร้างวัด ผู้สร้างจึงตั้งชื่อวัดนั้นว่า “วัดวรณีธรรมกายาราม” ดังนี้เป็นต้น
“ปาฏลิปุตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปาฏลีบุตร” แต่เขียนเป็น “ปาตลีบุตร” (ปาต– ต เต่า) ก็มี
…………..
คัมภีร์ จักกวาฬทีปนี ซึ่งพระสิริมังคลาจารย์แห่งนครเชียงใหม่รจนาเป็นภาษาบาลี กล่าวถึงเมืองปาฏลีบุตรไว้ดังนี้ –
………….
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า “ก็โดยสมัยนั้นแล สุนิธพราหมณ์และวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ของมคธรัฐ สร้างนครอยู่ที่ปาตลิคาม” และว่า “ดูก่อนอานนท์ การติดต่อของชนชาติอริยกะยังมีอยู่ตราบใด, ตลาดนัดยังมีอยู่ตราบใด, นครปาตลีบุตรนี้จักเป็นนครอันเลิศอยู่ตราบนั้น.”
อรรถกถามหาปรินิพพานสูตรนั้นว่า “คำว่า ‘สร้างนครอยู่ที่ปาตลิคาม’ นั้น ความว่า แปลงบ้านปาตลิคามให้เป็นเมือง.”
ฎีกาแห่งมหาปรินิพพานสูตรนั้นว่า “คำว่า ‘แปลงบ้านปาตลิคามให้เป็นเมือง’ นั้น ความว่า แปลง คือเริ่มตั้งที่ ซึ่งได้ชื่อว่า ปาตลิคาม มาก่อน ทำให้เป็นเมืองในบัดนี้.”
ฎีกาแห่งเภสัชชขันธกะว่า “คำว่า ปาตลิคาม หมายถึงบ้านในมคธรัฐบ้านหนึ่ง ซึ่งมีชื่ออย่างนั้น. ได้ยินว่าในวันสร้างบ้านนั้น หน่อต้นแคฝอย ๒ – ๓ หน่อแทงโผล่ขึ้นจากแผ่นดินในที่จับจองบ้าน ด้วยเหตุนั้นคนทั้งหลายจึงเรียกที่นั้นว่า ปาตลิคาม เลยทีเดียว. คำว่า ‘สร้างนครในปาตลิคาม’ หมายความว่าสร้างนครในภูมิประเทศกล่าวคือปาตลิคาม อธิบายว่า แปลงที่ซึ่งได้นามว่า ปาตลิคาม มาก่อนทำให้เป็นเมืองในบัดนี้.” เพราะฉะนั้น นครที่สร้างขึ้นในปาตลิคาม จึงชื่อว่า ปาตลีบุตร โดยชื่อที่พระผู้มีพระภาคทรงตั้ง.
ส่วนฎีกาปุรวรรคได้กล่าวไว้ว่า “ต้นไม้หนุ่มต้นหนึ่งซึ่งมีชื่อว่าปาตลิมีอยู่ในที่สร้างนครใด, นครนั้น ชื่อปาตลีบุตร. อีกอย่างหนึ่ง นายบ้านคนหนึ่งมีชื่อว่า ปาตลิ, บุตรของนายบ้านนั้น อยู่ในเมืองนี้ในกาลก่อน เพราะเหตุนั้น เมื่องนี้จึงชื่อ ปาตลีบุตร.”
………….
ปาฏลีบุตรเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบันทึกไว้ว่า เมื่อพุทธศักราช 234 พระอรหันต์ 1,000 รูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานประชุมทำสังคายนาครั้งที่ 3 ที่อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร โดยพระเจ้าอโศก หรือศรีธรรมาโศกราชเป็นองค์ศาสนูปถัมภก สิ้นเวลา 9 เดือนจึงเสร็จ
ดินแดนที่เป็นเมืองปาฏลีบุตรในอดีต ปัจจุบันชื่อเมือง “ปัตนะ” เป็นเมืองหลวงของรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
โปรดสังเกตว่าชื่อ “ปัตนะ” นั้นมีร่องรอยว่ากลายมาจาก “ปาฏลิปุตฺต” หรือ “ปาฏลีบุตร” นั่นเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชื่อเมืองยังกลายเป็นหลายชื่อ
: ใจคนฤๅจะไม่กลายเป็นหลายใจ
————-
หมายเหตุ: คำว่า “ปาฏลีบุตร” นี้ เขียนไว้ตั้งแต่ผู้เขียนบาลีวันละคำไปไหว้พระที่อินเดียเมื่อปลายเดือนเมษายน 2560 และตั้งใจจะโพสต์เมื่อเดินทางไปถึงเมืองปัตนะ แต่ไม่ได้โพสต์ด้วยเหตุขัดข้องบางประการ
พอดีวันนี้มีกิจจำเป็น เขียนบาลีวันละคำไม่ทัน จึงขออนุญาตนำมาโพสต์เป็นการชดเชยหรือขัดตาทัพวันหนึ่ง
อนึ่ง หมายเลขประจำคำวันนี้ คือ (1,786) เป็นหมายเลขที่ข้ามมาตั้งแต่คราวนั้น จึงเท่ากับเป็นการโพสต์ย้อนหลังไปในตัว
ขออภัยในความไม่เรียบร้อยมา ณ ที่นี้
15-6-60