มุนินทร์ แปลว่า จอมมุนี (บาลีวันละคำ 2,790)
มุนินทร์ แปลว่า จอมมุนี
แล้ว “มุนี” แปลว่าอะไร
“มุนินทร์” อ่านว่า มุ-นิน บาลีเป็น “มุนินฺท” อ่านว่า มุ-นิน-ทะ ประกอบด้วยคำว่า มุนิ + อินฺท
(1) มุนฺ (ธาตุ = รู้; ผูก) + อิ ปัจจัย
: มุนฺ + อิ = มุนิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รู้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น” (2) “ผู้รู้ประโยชน์ทั้งสอง” (3) “ผู้ผูกจิตของตนไว้มิให้ตกไปสู่อำนาจของราคะโทสะเป็นต้น”
(2) โมน (ความรู้) + อี ปัจจัย, รัสสะ อี เป็น อิ, แผลง โอ ที่ โม-(น) เป็น อุ (โมน > มุน)
: โมน > มุน + อี = มุนี > มุนิ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความรู้หรือมีโมเนยยธรรม”
“มุนิ” หมายถึง ผู้บำเพ็ญพรต, ผู้ศักดิ์สิทธิ์, นักปราชญ์, คนฉลาด (a holy man, a sage, wise man)
“มุนิ” ในภาษาไทยใช้เป็น “มุนิ” และ “มุนี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มุนิ, มุนี : (คำนาม) นักปราชญ์, ฤษี, พระสงฆ์. (ป., ส.).”
(๒) “อินฺท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ แล้วแปลงเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ (อิทิ + อ ปัจจัย : อิทิ อยู่หน้า อ อยู่หลัง) ลบสระ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)
: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง”
(2) อินฺทฺ (ธาตุ = ประกอบ) + อ ปัจจัย
: อินฺทฺ + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่”
“อินฺท” (ปุงลิงค์) หมายถึง จอม, เจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นใหญ่, พระอินทร์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อินฺท” ว่า –
(1) lord, chief, king (ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา)
(2) The Vedic god Indra (พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท)
“อินฺท” ในบาลีเป็น “อินฺทฺร” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อินฺทฺร : (คำนาม) พระอินทร์, เจ้าสวรรค์, เทพดาประจำทิศตะวันออก; Indra, the supreme deity presiding over Svarga, the regent of the east quarter.”
“อินฺท” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อินทร์” แต่ที่คงเป็น “อินท์” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อินท์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช, พระอินทร์; ผู้เป็นใหญ่. (ป.; ส. อินฺทฺร).
(2) อินทร-, อินทร์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช; ผู้เป็นใหญ่. (ส.; ป. อินฺท).
มุนิ + อินฺท = มุนินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งมุนี” แปลสั้นๆ ว่า “จอมมุนี” หมายถึง พระพุทธเจ้า
คำว่า “มุนินฺท” = พระจอมมุนี ที่เราคุ้นหูคุ้นปากกันดี ก็คือคำว่า “… ชิตวา มุนินฺโท” ในบทพุทธชัยมงคลคาถา หรือคาถาพาหุงนั่นเอง
“… ชิตวา มุนินฺโท” แปลว่า “พระจอมมุนีทรงชนะ…”
ในที่นี้ “มุนินฺท” สะกดตามรูปสันสกฤตเป็น “มุนินทร์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มุนินทร์ : (คำนาม) จอมนักปราชญ์, พระพุทธเจ้า. (ส. มุนินฺทฺร; ป. มุนินฺท).”
อภิปราย :
คำว่า “มุนิ” ในบาลีไวยากรณ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ว่า “ผู้รู้” ซึ่งไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นนักบวชหรือเป็นผู้ครองเรือน
แต่ในคัมภีร์ พบคำว่า “มุนิ” ที่ไหน เป็นต้องหมายถึงนักบวชทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม 29 ข้อ 67 แสดงไว้ว่า มุนีมี 6 จำพวก คือ –
(1) อาคารมุนี คือมุนีครองเรือน
(2) อนาคารมุนี คือมุนีไม่ครองเรือน หมายถึงนักบวช
(3) เสขมุนี คือพระอริยบุคคล 7 จำพวก หมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค จนถึงผู้บรรลุอรหัตมรรค
(4) อเสขมุนี คือพระอรหันต์
(5) ปัจเจกมุนี คือพระปัจเจกพุทธเจ้า
(6) มุนิมุนี คือพระพุทธเจ้า
ถ้าว่าตามนี้ ผู้ได้ชื่อว่า “มุนี” อาจไม่ใช่นักบวชก็ได้ คือมุนีจำพวกแรก (อาคารมุนี) แต่ถึงกระนั้น ท่านก็กำหนดคุณสมบัติกำกับไว้ด้วย คือ ต้องเป็นผู้ – (1) ทิฏฺฐปทา = เห็นบท คือเห็นพระนิพพาน และ (2) วิญฺญาตสาสนา = เข้าใจหลักคำสอนแจ่มแจ้ง
ดูตามคุณสมบัติแล้ว “อาคารมุนี” น่าจะหมายถึงผู้บรรลุพระนิพพานทั้งยังเป็นฆราวาส บุคคลประเภทนี้มีเงื่อนไขอยู่ว่า ต้องบวชภายในวันนั้น (ไม่ใช่ภายใน 7 วัน) ถ้ามิเช่นนั้นก็ต้องดับขันธ์ภายในวันนั้น
ผู้สนใจพึงศึกษารายละเอียดต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: วิถีแห่งมุนีนำไปถึงพระนฤพานได้ง่ายกว่าผู้ครองเรือน
: แต่ถ้าประพฤติแชเชือน ก็นำไปถึงนรกได้ง่ายกว่าเช่นกัน
#บาลีวันละคำ (2,790)
1-2-63