บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กิจอันพึงกระทำอยู่เสมอ

กิจอันพึงกระทำอยู่เสมอ

————————-

เมื่อไม่กี่วันมานี้มีท่านผู้หนึ่งออกมาพูดกับผู้คนผ่านทางสื่อออนไลน์ว่า เรื่องที่พระไตรปิฎกบอกว่าพระพุทธเจ้าประสูติแล้วเดินได้ ๗ ก้าวนั้น เขาไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริง 

นอกจากเรื่องประสูติแล้วเดินได้ ๗ ก้าว ยังมีเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งท่านผู้นั้นใช้คำพูดว่า “เวสสันดาน” (และน่าจะมีประเด็นเรื่องอื่นๆ อีก) ที่ท่านผู้นั้นก็บอกว่าท่านไม่เชื่อด้วยเช่นกัน

ท่านผู้นั้นยังได้แสดงความเห็นว่าคนที่เชื่อเรื่องนี้เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา 

วาจาที่ท่านผู้นั้นใช้ในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีผู้แสดงความเห็นว่าเป็นวาจาที่หยาบคายระดับ “อัปรีย์จัญไร” 

กรณีนี้ต่อมาได้มีการฟ้องร้องท่านผู้นั้น และมีผู้ออกมาแสดงความเห็นว่าท่านที่พูดเช่นนั้นไม่ผิด 

มีอาจารย์ท่านหนึ่งขมวดประเด็นให้เข้าใจชัดๆ ว่า 

๑ การที่ท่านผู้นั้นไม่เชื่อ อันนี้ไม่ผิด เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรก็ได้

๒ แต่การพูดแสดงความดูถูกดูหมิ่นสิ่งที่ตนไม่เชื่อ หรือดูถูกดูหมิ่นคนที่เชื่อสิ่งนั้นเรื่องนั้นต่อสาธารณะ อันนี้ผิด

เป็นอันว่า ผิดหรือไม่ผิดสามารถแยกได้ชัด เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรมั่วหรือเหมารวม

——————

แง่มุมที่ผมอยากจะปรารภสู่กันฟังก็คือ เรื่องในพระไตรปิฎกก็ดี เรื่องอื่นใดอีกก็ดี ที่เราเห็นว่าไม่น่าเชื่อ เช่นพระพุทธเจ้าประสูติแล้วเดินได้ ๗ ก้าว-อย่างนี้เป็นต้น ผู้ที่ไม่เชื่อนิยมอ้างเหตุผลว่ามันไม่น่าเป็นไปได้ โดยเทียบเคียงกับความเป็นจริงที่รู้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เช่นเด็กคลอดออกมาก็นอนแบเบาะทั้งนั้น ไม่เห็นมีเด็กคนไหนเดินได้ทันที พระพุทธเจ้าซึ่งตอนที่เกิดก็เป็นเด็กอ่อนเหมือนเด็กทั่วไป จะเดินได้ทันทีได้อย่างไร 

รวมทั้งเหตุผลที่พูดกันตรงๆ ว่าไม่เชื่อเพราะไม่ได้เห็นกับตาตัวเอง 

การอ้างเหตุผลอย่างนี้มีน้ำหนักหรือไม่? 

ผมจำโคลงบทหนึ่งได้ แต่จำไม่ได้ว่าเป็นของท่านผู้ใดแต่งไว้ 

โคลงว่าดังนี้ 

๏ สิ่งสุดสามารถใช้………ญาณตรอง

อย่าด่วนว่าล้วนผอง……..ผิดแล้

บางอย่างใช่วิสัยของ…….เราหยั่ง ถึงนา

อย่านึกว่าเท็จแท้…………ทุกข้อที่ฉงน๚ะ๛

ใจความว่า-เรื่องอะไรที่เราคิดหาเหตุผลไม่ได้ อย่าเพิ่งด่วนลงความเห็นว่าไม่จริง เพราะบางเรื่องเกินวิสัยของเราที่จะรู้หรือที่จะทำเช่นนั้นได้ เรื่องที่เรายังไม่รู้หรือยังทำไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าจะเป็นไปไม่ได้ไปเสียทั้งนั้น 

ผมนึกอุปมาหรือเรื่องเทียบเคียงได้เรื่องหนึ่งที่อาจช่วยให้เข้าใจเรื่องเหลือเชื่อแบบนี้ได้ง่ายขึ้น 

นั่นก็คือ สมัยของพวกเราเวลานี้เรารู้จักไวรัสหรือเชื้อโรคหลายอย่างที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นหรือแม้ใช้กล้องขยายธรรมดาก็มองไม่เห็น แต่เราก็สามารถสร้างเครื่องมือที่ทำให้มองเห็นเจ้าตัวไวรัสพวกนั้นได้ เราจึงรู้ว่ามันมีอยู่จริง-คือรู้แน่นอนว่ามันมีอยู่จริงๆ ไม่ใช่แค่ “เชื่อว่า” มันมีอยู่ 

ทีนี้ สมมุติว่าใครคนหนึ่งในสมัยนี้ที่ได้รู้ได้เห็นตัวไวรัสนั้นย้อนเวลาไปที่สมัยสุโขทัย แต่ไปได้แต่ตัว เอาเครื่องมือไปด้วยไม่ได้ แล้วไปบอกคนสมัยสุโขทัยว่าโลกเรานี้มีเชื่อไวรัสนั่นนี่โน่นอยู่มากมาย 

เราคงเดาได้ว่าคนสมัยสุโขทัยจะว่าอย่างไร เขาก็ต้องไม่เชื่อคำพูดของคนที่ไปจากสมัยเรานี้อย่างแน่นอน-ด้วยเหตุผลแบบเดียวกับที่เราได้ยินคำพูดของบางคนสมัยนี้ว่าไม่เชื่อเรื่องพระพุทธเจ้าประสูติแล้วเดินได้และไม่เชื่อเรื่องนั่นนี่โน่นนั่นเอง

คนสมัยสุโขทัยก็จะต้องอ้างว่ามันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเชื้อไวรัสมีจริงพวกเขาจะต้องมองเห็น นี่เขาไม่เคยเห็นเลย เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีอยู่จริง 

ตามเรื่องเทียบเคียงนี้เราคงเห็นตรงกันว่า ถ้าคนสมัยสุโขทัยสร้างเครื่องมือได้เหมือนคนสมัยเรา เขาคงไม่ปฏิเสธแบบนี้ 

แล้วเราก็คงอยากให้เขาสร้างเครื่องมือได้หรือมีเครื่องมือชนิดนั้น เขาจะได้รู้เห็นเหมือนกับคนสมัยเรา 

——————

คนสมัยสุโขทัยตามเรื่องเทียบเคียงนี้ ก็เหมือนบางคน หรือหลายคน หรือคนส่วนมากในสมัยนี้ที่ปฏิเสธเรื่องพระพุทธเจ้าประสูติแล้วเดินได้และไม่เชื่อเรื่องนั่นนี่โน่นตามที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ 

ส่วนพวกเราสมัยนี้ที่รู้จักไวรัสหรือเชื้อโรคหลายอย่างจากการศึกษาค้นคว้าและสามารถสร้างเครื่องมือที่ทำให้รู้เห็นว่าไวรัสและเชื้อโรคมีอยู่จริง ก็เหมือนคนในสมัยพุทธกาลที่ได้รู้ได้เห็นว่าพระพุทธเจ้าประสูติแล้วเดินได้และได้เห็นเรื่องเหลือเชื่อนั่นนี่โน่นอีกมากมาย

คนสมัยพุทธกาลโน้น-ถ้ารู้ว่าเราสมัยนี้ไม่เชื่อ-ก็คงอยากจะบอกเราสมัยนี้ให้หมั่นอบรมบ่มจิตใจให้สะอาด สงบ สว่าง-อันอุปมาเหมือนเครื่องมือที่ทำให้รู้เห็นไวรัสและเชื้อโรคต่างๆ-แล้วเราก็จะรู้เห็นประจักษ์ใจเราเอง

อธิบายเทียบเคียงอย่างนี้ จะช่วยให้เข้าใจเรื่องเหลือเชื่อต่างๆ ได้ง่ายขึ้นบ้างหรือไม่?

แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องอะไรก็ตาม การหมั่นอบรมบ่มจิตใจให้สะอาด สงบ สว่าง เป็นกิจอันชาวพุทธ-ตลอดจนมวลมนุษย์-พึงกระทำอยู่เสมอโดยแท้ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑

๑๘:๔๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *