บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถ้าไม่มีการสอบบาลี จะมีใครเรียนบาลีหรือไม่?

ถ้าไม่มีการสอบบาลี จะมีใครเรียนบาลีหรือไม่?

———————-

วันนี้ – แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ (๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓) เริ่มสอบบาลีสนามหลวงครั้งแรก ชุดที่ ๒ คือ ประโยค ๑-๒, ป.ธ.๓, ป.ธ.๔ และ ป.ธ.๕ 

ชุดที่ ๑ คือ ป.ธ.๖-๙ สอบไปแล้วเมื่อขึ้น ๒ ค่ำ – ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๓ (๒๖-๓๐ มกราคม ๒๕๖๓)

ชุดที่ ๑ สนามสอบอยู่ในกรุงเทพฯ 

ชุดที่ ๒ สนามสอบอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดต่างๆ

ผมถือเป็นธรรมเนียมหรือประเพณีอย่างหนึ่งที่จะชักชวนญาติๆ ทำอาหารไปเลี้ยงพระที่สนามสอบจังหวัดราชบุรี-ทั้งสอบนักธรรมและสอบบาลี 

ทำกันมาหลายปีแล้ว ยังจะทำกันต่อไปอีกเรื่อยๆ และจะพยายามทำให้เป็นกิจกรรมประจำตระกูล ใครตายก็ตายไป ใครอยู่ก็ทำกันต่อไป 

…………..

ปีนี้ พวกญาติตกลงร่วมกันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระสอบบาลีวันแรก คือวันที่ ๑๘ ก็คือวันนี้ 

ในระหว่างไปช่วยกันเลี้ยงพระ ผมมีแนวคิดเกิดขึ้น ๒ เรื่อง 

เรื่องแรก-เป็นข้อเสนอแนะ

ผมอยากจะขออนุญาตฝากข้อเสนอไปยังคณะสงฆ์จังหวัดราชบุรีว่า ขอให้ใช้วัดมหาธาตุเป็นสนามสอบกลางของคณะสงฆ์ตลอดไป 

ที่ทำกันมา เจ้าคณะจังหวัดอยู่วัดไหน สนามสอบก็ย้ายตามไปวัดนั้น สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดก็ย้ายตามไปด้วยเช่นกัน 

ข้อเสนอของผมก็คือ ขอให้มีวัดกลางจังหวัดเป็นสำนักงานเจ้าคณะจังหวัด-เหมือนศาลากลางจังหวัดของทางราชการ

ไม่ว่าพระเถระรูปไหนวัดไหนจะเป็นเจ้าคณะจังหวัด ก็ให้ไปอยู่หรือไปปฏิบัติงานที่วัดกลางจังหวัดแห่งเดียว ไม่ต้องย้ายสำนักงานตามตัวเจ้าคณะจังหวัดเรื่อยไปอย่างที่เป็นอยู่ 

สนามสอบนักธรรมและบาลีก็ให้อยู่ที่วัดกลางจังหวัด ไม่ต้องย้ายตามเจ้าคณะจังหวัดอย่างที่เป็นอยู่ 

ทุกวันนี้ เจ้าคณะจังหวัดอยู่วัดไหน ก็ไปตั้งอาณาจักรบริหารงานคณะสงฆ์กันที่วัดนั้น 

เปลี่ยนตัวเจ้าคณะที ก็ย้ายอาณาจักรกันที 

ก็เลยสร้างอาณาจักรใหม่กันเรื่อยไป ไม่เสร็จสักที

กราบขอเสนอแนวคิดไปถึงคณะสงฆ์ด้วยเลยขอรับ – ทำให้เหมือนกันทุกจังหวัดเลย

…………..

เรื่องที่สอง-เป็นข้อคิดส่วนตัว

ข้อนี้ยาวหน่อยนะครับ

ถ้าคณะสงฆ์ประกาศว่า ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะยกเลิกการสอบบาลีทุกชั้นทุกประโยค หมายความว่าใครจะเรียนบาลีก็เรียนไป แต่จะไม่มีการสอบอีกต่อไป 

จะมีใครเรียนบาลีหรือไม่? 

ก็คงต้องถอยไปถามกันก่อนว่า ที่เรียนบาลีกันทุกวันนี้เรียนไปเพื่ออะไร? 

ตอบอย่างไม่อ้อมค้อมก็คือ เรียนเพื่อให้ได้วุฒิ เช่นเพื่อให้ได้ ป.ธ.๓ ป.ธ.๖ ป.ธ.๙ 

จะเอาวุฒิเหล่านี้ไปทำอะไร? 

คำถามข้อนี้คำตอบมีหลากหลาย 

แต่ไม่ว่าจะตอบอย่างไร ความเป็นจริงอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าสอบได้ก็ได้สิทธิบางอย่างที่พ่วงมากับวุฒินั้นๆ

ส่วนใครจะเอาวุฒินั้นไปทำอะไรต่อไปอีก ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรม 

และที่ผ่านมาก็เป็นสิทธิที่ชอบทำกันทั่วไป 

……………..

วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเรียนบาลีก็เพื่อให้สามารถศึกษาพระธรรมวินัยจากต้นฉบับพระคัมภีร์ได้โดยตรงและอย่างถูกต้องถ่องแท้ 

ต่อจากนั้น ก็จะสามารถประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ได้ศึกษามาดีแล้วอย่างถูกต้อง ไม่วิปริตผิดเพี้ยน

และต่อจากนั้น ก็จะสามารถแนะนำ บอกกล่าว เผยแผ่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องให้กว้างขวางต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดำรงอยู่และดำเนินไปเพื่ออำนวยสันติสุขให้ชาวโลกได้ด้วยอาการอย่างนี้ 

ผมเข้าใจว่า ทุกวันนี้เราไม่ได้บอกกล่าวอะไรกันอย่างนี้-ไปตั้งแต่ต้น 

เราบอกกันแต่เพียงว่า –

มาเรียนบาลีกัน 

พยายามเรียนไป 

พยายามสอบให้ได้ 

ได้ประโยคนั้นประโยคโน้นแล้วจะได้เป็นนั่นเป็นโน่น 

ได้ประโยคนั้นประโยคโน้นแล้วจะได้เอาไปต่อโน่นต่อนี่ต่อไปอีก

ผมเข้าใจดี-ว่านี่เป็นกุศโลบายที่จะให้มีคนเรียนบาลี

เราต้องบอกกันอย่างนี้ มิเช่นนั้นจะไม่มีใครมาเรียน 

เราต้องเอาผลประโยชน์ส่วนตัวเข้าล่อกันก่อน

ผลประโยชน์ของพระศาสนาเอาไว้ว่ากันทีหลัง

ซึ่งก็เป็นความจริงตามหลักจิตวิทยาการแนะแนว 

สมัยผมเรียนบาลีก็ไม่มีใครบอกว่าเรียนเพื่อสืบอายุพระศาสนา 

มีแต่บอกว่า-ได้ประโยค ๙ แล้ว ถ้าอยู่ก็ได้เป็นเจ้าคุณ ถ้าสึกก็เอาไปสอบเข้ารับราชการได้ และเอาไปเรียนต่อปริญญาทางโลกก็ได้ด้วย 

ที่รู้ตระหนักว่าเรียนบาลีเพื่อสืบอายุพระศาสนา ก็มาประมวลความและตรึกตรองเห็นได้ด้วยตัวเองในภายหลัง-หลังจากใช้ศักดิ์และสิทธิ์แห่งประโยค ๙ โลดแล่นไปในโลกจนพอแก่การย์แล้ว

แต่ท่านพุทธทาสภิกขุท่านรู้ตระหนักตั้งแต่สอบประโยค ๓ ได้ ได้เป็น “พระมหาเงื่อม” กำลังจะเรียนเพื่อสอบประโยค ๔ ต่อไป

ท่านพระมหาเงื่อมประมวลความแล้วเห็นตระหนักว่า-การเรียนบาลีที่กำลังทำกันอยู่แบบนั้นเป็นการแล่นไปผิดท่า ท่านจึงหยุด แล้วออกจากกรุงเทพฯ ไปตั้งสวนโมกขพลารามที่ไชยา สุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕-ปีที่เมืองสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี 

ผมเห็นว่าเราคงไม่จำเป็นต้องทำแบบท่าน คือไม่ต้องหยุดเรียนบาลีเพื่อสอบได้ แล้วหันไปเรียนบาลีเพื่อรู้เข้าใจพระธรรมวินัยอย่างเดียว 

เรียนเพื่อสอบได้ ก็ยังคงเรียนกันต่อไป ใช้ศักดิ์และสิทธิ์แห่งเปรียญธรรมกันต่อไปตามที่ใจปรารถนา

เพียงแต่บอกแจ้งแถลงไขกันไปตั้งแต่ต้นทางว่า-การเรียนบาลีนี้เป้าหมายที่แท้จริงคือเรียนเพื่อรู้เข้าใจพระธรรมวินัยจากต้นฉบับจริง แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยตนเอง แล้วบอกกล่าวเผยแผ่แก่ผู้อื่นต่อไป-อย่างนี้คือเป้าหมายหลัก 

ส่วนการสอบได้ แล้วใช้ศักดิ์และสิทธิ์แห่งเปรียญธรรมเพื่อโลดแล่นไปในโลก-นั่นเป็นเป้าหมายรอง

ผมใคร่ขอร้องวิงวอนให้ผู้บริหารการพระศาสนาชี้แนะ และเน้นย้ำเป้าหมายเช่นที่กล่าวมานี้แก่ผู้เข้ามาเรียนบาลีให้เข้าใจ และมองเห็นได้ชัดเจนถูกต้องไปตั้งแต่ต้นทาง 

จะเลือกเป้าหมายหลักหรือเป้าหมายรอง ผู้เรียนจะได้มีเวลาคิดไปตั้งแต่ต้น มีเวลาคิดนานๆ แล้วตัดสินใจด้วยตัวเอง 

คนที่มีศรัทธา รักพระศาสนา เห็นแก่ประโยชน์ของพระศาสนา-ซึ่งจะต้องมีอยู่แน่ๆ-จะได้อุทิศตัวเพื่อพระศาสนาไปตั้งแต่ต้นทาง 

ผมเข้าใจว่า ผู้บริหารการพระศาสนาของเราไม่เคยมีแนวคิดที่จะสร้างทายาทพระศาสนาอย่างเป็นหลักเป็นฐาน เป็นล่ำเป็นสัน หรือเป็นระดับนโยบาย 

เราใช้วิธี-รอให้กรรมจัดสรร แล้วแต่ศรัทธา แล้วแต่บุญแต่กรรมของแต่ละคน 

ผมเชื่อว่าเราส่วนหนึ่ง-และอาจจะเป็นส่วนมาก-เชื่ออย่างนี้ 

คือเชื่อว่า ใครจะมาเป็นทายาทพระศาสนาต้องแล้วบุญแต่กรรมของเขาเคยสร้างมา ถ้าเขาจะเป็น อย่างไรเสียเขาก็ต้องมา ถ้าเขาจะไม่เป็น ต่อให้ลงทุนสร้าง ลงทุนปลุกปั้นขนาดไหนเขาก็ไม่เอา 

เราเชื่อกันอย่างนี้ 

และเพราะเชื่ออย่างนี้ เราก็จึงไม่ทำอะไร คือไม่ปลูก ไม่ปั้น ไม่สร้างใคร 

ฝากอนาคตพระศาสนาไว้กับบุญกรรม 

มิหนำซ้ำอาจจะยกเอาตัวเองเป็นตัวอย่างด้วย-ก็ดูแต่อาตมานี่ซิ ใครสร้างอาตมา อาตมามาเอง เรียนเอง อยู่เอง แล้วก็เป็นเอง ไม่ต้องมีใครสร้าง

เพราะฉะนั้น เราก็อยู่กันอย่างที่พูดกันว่า-อยู่กันไปวันๆ 

ไม่ได้วางแผน 

ไม่ได้มีโครงการ 

และไม่ต้องทำอะไร-ที่จะเป็นการสร้างทายาทพระศาสนา 

รอเวลาให้ทายาทพระศาสนาเกิดเอง 

……………..

ผมเองก็ทำได้แค่นี้ คือเสนอแนะ บอกกล่าว เผยแพร่แนวคิด 

ท่านผู้รับผิดชอบการพระศาสนาท่านจะได้ยินหรือไม่ได้ยิน ท่านจะฟังหรือไม่ฟัง ท่านจะทำหรือไม่ทำ ผมไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับท่านได้

ผมรู้แต่ว่า เทวดาที่รักษาพระศาสนานั้นมีจริง

และผมเชื่อว่า-คำเสนอแนะของผมนี้ สักวันหนึ่ง เทวดาที่รักษาพระศาสนาท่านคงจะได้ยิน

……………..

ขอแบ่งส่วนบุญอันเกิดแต่การร่วมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระสอบบาลีวันนี้แก่ญาติมิตรทั้งปวงโดยทั่วกัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๑๕:๑๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *