ดำไร (บาลีวันละคำ 2,156)
ดำไร
ดำดินมาจากบาลีหรือไร?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ดำไร : (คำนาม) ช้าง, ใช้ว่า ดำรี หรือ ดมไร ก็มี.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ดำไร” เป็นภาษาอะไร หรือมาจากภาษาอะไร
ตามไปดูที่คำว่า “ดำรี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ดำรี : (คำนาม) ช้าง, ใช้ว่า ดำไร หรือ ดมไร ก็มี. (ข. ฎํรี).”
และที่คำว่า “ดมไร” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“ดมไร : (คำนาม) ช้าง, โดยมากใช้ ดําไร หรือ ดํารี. (ข. ฎํรี).
คราวนี้พจนานุกรมฯ บอกว่า “ดำรี” คำเขมรเป็น “ฎํรี”
ถ้าถือตามพจนานุกรมฯ ก็เป็นอันว่า “ดำไร” มีเค้าว่ามาจากภาษาเขมรว่า “ฎํรี”
(“ฎํรี” เขมรออกเสียงอย่างไร ขอแรงญาติมิตรที่รู้ภาษาเขมรกรุณาให้ความรู้ด้วย)
“ดำไร” มาจากบาลีได้หรือไม่ :
ถามว่า “ฎํรี” เป็นคำเขมรแท้ๆ หรือว่าเขมรรับมาจากที่อื่นอีกต่อหนึ่ง
ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า คำว่า “ดำไร” สามารถอธิบายให้เห็นได้ว่า รากเดิมมาจากภาษาบาลี
“ดำไร” แปลว่า ช้าง (an elephant)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล elephant เป็นบาลีดังนี้ –
(1) hatthī หตฺถี (หัด-ถี) “สัตว์ที่มีมือ” (คือมีงวง)
(2) mātaṅga มาตงฺค (มา-ตัง-คะ) “สัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โต”
(3) kuñjara กุญฺชร (กุน-ชะ-ระ) “ผู้ทำให้ดินเสื่อมสภาพด้วยการทำลายเล่น” “ผู้ยินดีอยู่บนเนินเขา” “ผู้เที่ยวบันลือเหมือนเสียงนกกระเรียน”
(4) gaja คช (คะ-ชะ) “สัตว์ที่ส่งเสียงคำราม”
(5) vāraṇa วารณ (วา-ระ-นะ) “ผู้ต้านกำลังของปรปักษ์ได้”
(6) karī กรี (กะ-รี) “สัตว์ที่มีมือ” (คือมีงวง)
(7) dantī ทนฺตี (ทัน-ตี) “สัตว์ที่มีฟัน” (คือมีงา)
(8) ibha อิภ (อิ-พะ) “ผู้เดินเนิบๆ”
ในบรรดาศัพท์บาลีที่หมายถึงช้างเหล่านี้ คำที่กลายเป็น “ดำไร” ได้ คือคำว่า “กรี”
ขั้นตอนการกลายรูป:
ในภาษาไทย ต กลายรูปเป็น ก มีอยู่ทั่วไป เช่น
– ตรอก > กรอก
– โซ่ตรวน > โซ่กรวน
– ตรม > กรม
– ผ้าไตร > ผ้าไกร
ได้หลักว่า ต > ก ก > ต กลายรูปแทนกันได้
ดังนั้น: กรี > ตรี (ตะ-รี) (กลายจาก ก เป็น ต แทนที่จะกลายจาก ต เป็น ก)
และคำที่มาจากบาลีสันสกฤต ต เต่า เราใช้ในภาษาไทยเป็น ด เด็ก ก็มีอยู่ทั่วไป เช่น
– ตล (พื้น) > ดล (มหีตล [พื้นแผ่นดิน] > มหิดล)
– ปาตาล (พื้นใต้ดิน) > บาดาล
– ติลก (รอยเจิม) > ดิลก
ดังนั้น: กรี > ตรี (ตะ-รี) > ดรี (ดะ-รี)
จาก ดรี ก็แผลงต่อไปเป็น ดำไร : ดรี > ดำไร
คำเทียบ: รวิ (ดวงอาทิตย์) > รวี > รพี > รำไพ
ดังนั้น: กรี > ตรี > ดรี > ดำไร
และดังนั้น “ฎํรี” ของเขมรจึงไม่ใช่คำเขมรแท้ แต่เขมรเอา “กรี” ในบาลีไปเล่นกลกลายเป็น “ฎํรี” ไปด้วยประการฉะนี้
ควรมิควรแล้วแต่จะพิจารณา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แต่คำเดียวเจียวยังกลายเป็นหลายกล
: แล้วใจคนฤๅจะไม่กลายเป็นหลายใจ
————-
ภาพประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (2,156)
8-5-61