บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ขอแรงคนฉลาด

ขอแรงคนฉลาด

—————–

เมื่อวันอาสาฬบูชา ลูกสาวผมกลับบ้าน มาทำบุญที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี พอสายๆ ก็กลับกรุงเทพฯ ขับรถไปทางถนนพระรามสอง ถึงแถวๆ วัดเกตุมฯ ก็ถูกตำรวจเรียก แจ้งข้อหาว่าขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องเสียค่าปรับ

ลูกสาวผมเคยถูกใบสั่งทางไปรษณีย์ในข้อหาขับรถเร็วเช่นนี้มาแล้ว

ผมไม่ติดใจกรณีที่ถูกจับหรือถูกใบสั่ง ตรงกันข้าม ผมสนับสนุนให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือคำสั่งอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่สั่งให้ทำอะไรอย่างไร อย่าบิดพลิ้วเป็นอันขาด 

ผมเองเวลาขับรถก็เคยถูกตำรวจเรียก ผมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ขอดูใบอะไรก็ยื่นให้ดูทุกอย่างด้วยกิริยาสุภาพ ไม่เคยแสดงอาการฮึดฮัดขัดเคือง ยิ่งใบขับขี่ของผมระบุชั้นยศทหารเรือไว้ด้วย ผมยิ่งต้องระวังมากขึ้น ไม่แสดงอะไรที่จะตีความไปได้ว่าทหารเรืออวดเบ่ง ประโยคแรกที่ผมจะพูดกับเจ้าหน้าที่คือ กล่าวคำขอโทษทันที และยอมรับผิดทุกกรณีที่เจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบ 

ผมตระหนักดีว่าขณะนั้นเขากำลังทำหน้าที่ และคนเราควรให้เกียรติคนที่กำลังทำหน้าที่ของเขา

—————–

ผมนึกถึงข้อความที่ติดไว้ที่กองรักษาการณ์ประตูเข้าพระราชวังเดิมที่เคยเป็นกองบัญชาการกองทัพเรือ ในนั้นเคยเป็นที่ทำงานของผม

“ทหารยามเป็นบุคคลที่มีเกียรติ..”

แล้วต่อจากนั้นดูเหมือนจะเป็นข้อความว่า “ผู้ใดทำร้ายทหารยาม จะต้องได้รับโทษสถานหนัก” ทำนองนี้

สมัยผมเป็นเรือโท วันหนึ่งเข้าเป็นนายทหารเวรของกรม หลังสองทุ่มผมถอดเสื้อ สวมรองเท้าแตะเดินจะออกไปข้างนอก ผ่านประตูกองรักษาการณ์

ทหารยามปรี่เข้ามาเรียกให้ผมหยุด บอกว่า แต่งตัวครึ่งท่อนสวมรองเท้าแตะ ผ่านไม่ได้ครับ

ผมอายมากๆ ที่ไม่ทันได้นึกถึงกฎ รีบกลับเข้าไปที่กรม แต่งเครื่องแบบออกมาใหม่ และเดินผ่านยามรักษาการณ์ด้วยความสบายใจ 

ทหารยามคนเดิมทำวันยาวุธให้ผมอย่างแข็งแรง

คนเราควรให้เกียรติคนที่กำลังทำหน้าที่ของเขา

—————

แต่ที่ผมติดใจกรณีที่ลูกสาวถูกจับถูกปรับฐานขับรถเร็วก็คือ โจทย์ที่เธอเขียนไว้ดังนี้ –

……….

เวลาโดนใบสั่งขับรถเร็ว มักจะคิดถึงโจทย์เลขที่เรียนสมัยมัธยมทุกที

รถคันแรกวิ่งด้วยความเร็ว 124 กม.ต่อ ชม. รถคันหลังอยู่ห่างไปสองร้อยเมตร แซงรถคันแรกได้ในเวลา 30 วินาที ถามว่ารถคันหลังวิ่งด้วยความเร็วเท่าไร 

คือระหว่างที่เราวิ่งด้วยความเร็วเกินกำหนดอยู่นี้ มีรถหลายคันที่แซงเราไป สงสัยว่ารถที่แซงพวกนี้ถูกจับไหม อันนี้อยากรู้จริงๆ

……….

ความจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจมีเหตุผลเป็นกระบุงที่ไม่ได้จับ-หรือยังไม่ได้จับ-รถคันที่วิ่งเร็วกว่าหรือที่วิ่งเร็วพอๆ กันกับคันที่ถูกจับ

ปัญหาคือ เจ้าหน้าที่ใช้อะไรเป็นเกณฑ์หรือเป็นมาตรฐานในการจับคันนี้ ไม่จับคันโน้น ที่ก็ขับด้วยความเร็วเกินกำหนดเหมือนกัน

คำถามนี้ไม่ได้เกิดจากความคิดที่ว่า-ถ้ากูโดน มึงก็ควรจะต้องโดนด้วยจึงจะยุติธรรม-ไม่ได้คิดอย่างนี้

ใครจะโดนหรือใครไม่โดน ไม่สำคัญอะไร ใครโดนก็ปฏิบัติตามกฎตามระเบียบไปตามหน้าที่ นั่นจึงจะถูกต้อง

แต่ควรมีคำตอบว่า เจ้าหน้าที่ควรใช้หลักอะไร-หรือต้องใช้หลักอะไร-ในการปฏิบัติ

ถ้ามิเช่นนั้น ก็จะไม่ต่างอะไรกับการล่าสัตว์ กล่าวคือผู้ล่าจะเลือกยิงตัวไหนก็ได้ตามแต่ใจจะปรารถนา เป็นหน้าที่ของสัตว์ที่จะหลบหลีกเอาเอง หลบได้ก็รอดตัว หลบไม่ได้ ก็โดน

กฎจราจรไม่ควรเป็นแบบนั้น

คือกฎจราจรเป็นกฎเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน 

กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ก็ด้วยเจตนารมณ์ที่จะยังให้เกิดความปลอดภัย ด้วยการยับยั้งผู้ขับขี่ที่กระทำการอันจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย-ซึ่งในกรณีนี้ก็คือการขับรถเร็วเกินกำหนด

หมายความว่า กฎหมายเห็นว่า การขับรถเร็วเกินกำหนดเป็นสาเหตุแห่งความไม่ปลอดภัย จึงให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเข้าระงับยับยั้งผู้ขับรถเร็วเกินกำหนดได้

หมายความต่อไปว่า ไม่ว่าใคร ถ้าขับรถเร็วเกินกำหนด ควรต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องเข้าระงับยับยั้ง จะปล่อยไปเฉยๆ ไม่ได้

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เจ้าหน้าที่จะเข้าระงับยับยั้งก็เฉพาะรายที่สามารถเข้าระงับยับยั้งได้

รายที่ไม่ได้เข้าระงับยับยั้ง ก็ไม่ถือว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ คือเจ้าหน้าก็ไม่มีความผิดอะไร

กลายเป็นการเลือกปฏิบัติไปโดยปริยาย

การ (เลือก) ปฏิบัติเช่นนี้ไม่ได้สนองเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ประการใดเลย คือ-ก็ยังมีคนขับรถเร็วเกินกำหนดกันโดยทั่วไป โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้จับ-หรือจะว่า-จับไม่ได้ก็แล้วแต่

อำนาจที่ให้ไว้ก็เลยกลายเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ไปโดยปริยายอีกเช่นกัน

เป็นอันว่า เจ้าหน้าที่จะทำหรือจะไม่ทำอะไรกับรถคันไหน เป็นอำนาจโดยสมบูรณ์ และการทำกับรายหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำกับรายอื่นที่กระทำผิดแบบเดียวกัน ก็ไม่เป็นความผิดหรือความบกพร่องของตัวเจ้าหน้าที่เองแต่อย่างใดทั้งสิ้น (ข้ออ้างมีเป็นกระบุงดังที่กล่าวแล้ว เช่น เจ้าหน้าที่มีแค่สองมือสองเท้า จะให้ทำยังไง … เป็นต้น)

—————-

ผมติดใจอยู่เสมอว่า คนสมัยนี้มักจะกระหยิ่มว่าตนฉลาดกว่าคนสมัยก่อน

จึงอยากจะเสนอแบบท้าทายว่า ถ้าใครเก่งจริงก็จงคิดระบบกลไกอะไรสักอย่างที่มีหลักการทำงานดังต่อไปนี้ – 

๑ บังคับรถทุกคันให้ติดตั้งระบบที่ว่านี้

๒ รถทุกคันต้องจ่ายเงินค่าปรับล่วงหน้าให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ

๓ เมื่อรถวิ่งเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กลไกที่ติดไว้กับรถและโยงเครือข่ายไปที่ศูนย์ของทางราชการจะทำงานโดยอัตโนมัติ โดยตัดเงินของรถคันนั้นออกเป็นค่าปรับจริง ทุกครั้งที่ทำผิด (ขับรถเร็วเกินกำหนด) ก็จะถูกปรับโดยอัตโนมัติไปเรื่อยๆ 

๔ ถ้าเงินหมดบัญชีที่จ่ายล่วงหน้าไว้ กลไกจะทำงานทำให้รถคันนั้นออกมาวิ่งไม่ได้ เช่นสตาร์ทไม่ติดเป็นต้น หรือทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้แล้วเรียกไปให้จ่ายเงินค่าปรับล่วงหน้าอีกก่อน จึงจะเอารถออกมาวิ่งได้

๕ คิดระบบได้แล้ว อย่าลืมคิดระบบป้องกันการโกงทุกวิธีการของเจ้าของรถไว้ด้วย เช่นถ้าเจ้าของรถแอบแก้ไขกลไก (เช่นทำให้-แม้รถวิ่งเร็วกว่ากำหนด-กลไกก็จับไม่ได้เป็นต้น) กลไกจะทำให้รถคันนั้นใช้งานไม่ได้ทันที และเจ้าของรถจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักด้วย-อย่างนี้เป็นต้น

—————-

ถ้ามีระบบที่ว่านี้ใช้จริงๆ เราก็ไม่ต้องพึ่งการ (เลือก) ปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อีกต่อไป คนขับรถทุกคันจะถูกกลไกบังคับให้อยู่ในระเบียบ ถ้าฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษด้วยระบบของกลไกเอง-จะว่าเป็นการลงโทษโดยตัวเองก็ได้ ไม่ใช่ด้วยการวินิจฉัยแบบเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

เป็นระบบที่สนับสนุนหลักคำสอนที่ว่า-ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว-ให้เห็นผลทันตาจริงๆ ด้วย

ถ้าคิดระบบแบบนี้ยังไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งกระหยิ่มว่าคนสมัยนี้ฉลาดกว่าคนสมัยก่อน

คนสมัยก่อนท่านใช้ระบบศีลธรรมแก้ปัญหาสังคม

คนสมัยนี้ไม่เห็นความสำคัญของศีลธรรม จนถึงขั้นดูถูกศีลธรรมด้วยซ้ำ

ใครฉลาดช่วยกันคิดค้นระบบอะไรสักอย่างขึ้นมาใช้แทนระบบศีลธรรมหน่อยนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙

๑๔:๕๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *