อิสิปตนมฤคทายวัน [2] (บาลีวันละคำ 1,508)
อิสิปตนมฤคทายวัน [2]
“อิสิปตน” และ “มฤคทาย” แปลว่าอะไรได้อีก
“อิสิปตนมฤคทายวัน” ในบาลีท่านแบ่งคำเป็น 2 กลุ่ม คือ “อิสิปตน” และ “มิคทาย” ดังคำในธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า “อิสิปตเน มิคทาเย”
(๑) “อิสิปตน” (อิ-สิ-ปะ-ตะ-นะ)
แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตกไปแห่งฤๅษี” หมายถึง สถานที่อันพวกฤๅษีมาชุมนุมกัน คือมาอยู่รวมกัน ถือเอาความว่า ที่อยู่ของฤๅษี
แต่บางท่านบอกว่า ศัพท์นี้มีความหมายตรงตัว โดยอธิบายว่า ฤๅษีเหาะมาจากป่าหิมพานต์ พอมาถึงตรงนั้นก็ตกลงมา จึงเรียกสถานที่ตรงนั้น “อิสิปตน” แปลว่า “ฤๅษีตก”
พอดีมีเรื่องในชาดกที่กล่าวถึงพระราชาทรงเลื่อมใสฤๅษีมีตบะตนหนึ่ง ทรงนิมนต์ให้ไปฉันในวังทุกวัน ฤๅษีก็เหาะไปเหาะกลับทุกวัน วันหนึ่ง เหาะผ่านตำหนักนางใน พระมเหสีกำลังนอนอาบแดดอยู่บนดาดฟ้า ฤๅษีเห็นรูปโฉมของพระมเหสีที่ไร้อาภรณ์ เกิดกามราคะ ก็เลยเป็นอย่างที่ภาษาปากพูดว่า “หล่นตุ้บลงมา” คราวนี้ฉันเสร็จแล้วต้องเดินกลับเพราะตบะเสื่อม
เรื่องทำนองนี้ก็ช่วยหนุนให้เชื่อสนิทว่า “อิสิปตน” แปลว่า “ฤๅษีตก”
แต่คัมภีร์มโนรถปูรณี (ภาค 2 หน้า 124) ยืนยันว่า –
“ปตเน สนฺนิปาตฏฺฐาเนติ อตฺโถ”
(คำว่า “ปตน” หมายถึง “สนฺนิปาตฐาน = ที่ประชุม”)
(๒) “มิคทาย > มฤคทาย”
บาลีวันละคำ (1,505) 18-7-59 : อิสิปตนมฤคทายวัน) แปลไว้ว่า “ป่าเป็นที่อยู่แห่งเนื้อ” และวงเล็บไว้ว่า คำนี้อาจแปลเป็นอย่างอื่นได้อีก
ที่แปลว่า “ป่าเป็นที่อยู่แห่งเนื้อ” ก็คือ : มิค = เนื้อ, ทาย = ป่า ทั้งนี้เป็นการแปลตามนัยแห่งพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่บอกความหมายของคำว่า “ทาย” ที่แปลว่า “ป่า” แล้วยกตัวอย่างคำว่า “มิคทาย” และแปลเป็นอังกฤษว่า deer park (สวนกวาง)
แต่คัมภีร์อรรถกถาหลายแห่งอธิบายคำว่า “ทาย” ในคำนี้ตรงกันว่า
“มิคานํ อภยตฺถาย ทินฺเน”
(ในป่าที่พระราชทานเพื่อให้เนื้อทั้งหลายอยู่อย่างปลอดภัย)
นั่นคือ “ทาย” แปลว่า “สิ่งอันเขาให้” ไม่ได้แปลว่า “ป่า” ซึ่งพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปล “ทาย” คำนี้ (คนละคำกับ “ทาย” ที่แปลว่า ป่า) ว่า a gift, donation; share, fee (ของขวัญ, ของบริจาค; ส่วนแบ่ง, ค่าธรรมเนียม)
เป็นอันว่า “มิคทาย > มฤคทาย” มีความหมายได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ” ซึ่งตรงกับความหมายของชื่อปัจจุบันว่า “สารนาถ” ที่ผู้รู้บอกว่ากลายเสียงมาจากคำว่า “สารังคนาถ” ซึ่งแปลว่า “ที่พึ่งของกวาง” (สารังค = กวาง, นาถ = ที่พึ่ง)
……….
ดูก่อนภราดา!
: อันใจคนก็เหมือนคำจำไว้เถิด
: ถึงพริ้งเพริศก็จงเผื่อเชื่อไฉน
: แต่ชื่อเดียวเจียวยังหมายเป็นหลายนัย
: เหมือนหนึ่งใจที่จะจริงจงกริ่งเกรง
21-7-59