บาลีวันละคำ

ปรากรมแห่งพระทศพลญาณ (บาลีวันละคำ 1,507)

ปรากรมแห่งพระทศพลญาณ

จึงพบหิตะอสุรธรรม ณ ภูวะ “อริยสัจ๔”

————————–

โปรดดูภาพประกอบด้วย

————————–

คำที่ยกขึ้นตั้งข้างต้น เฉพาะที่เป็นคำศัพท์แยกศัพท์ได้ดังนี้ –

ปรากรม / พระทศพล / ทศพลญาณ / หิตะ / อสุร / ธรรม / ภูวะ / อริยสัจ

(๑) “ปรากรม” อ่านว่า ปะ-รา-กฺรม

บาลีเป็น “ปรกฺกม” (ปะ-รัก-กะ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “อาการที่ย่ำไปยังที่ต่างๆ” (2) “อาการที่เหยียบย่ำข้าศึกคือความเกียจคร้าน

ปรกฺกม” เขียนตามรูปสันสกฤตเป็น “ปรากฺรม” หมายถึง ความเพียร, ความบากบั่น, ความอุตสาหะ, ความพยายาม (exertion, endeavour, effort, strife)

(๒) “พระทศพล” อ่านว่า พฺระ-ทด-สะ-พน ประกอบด้วย ทศ + พล

(ก) “ทศ” บาลีเขียน “ทส” (ส เสือ สะกด) แปลว่า สิบ (จำนวน 10)

(ข) “พล” บาลีอ่านว่า พะ-ละ แปลตามศัพท์ว่า (1) “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” (2) “ผู้เฝ้าระวัง” (3) “ผู้ครอบงำศัตรู

พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ –

(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)

(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)

ทส + พล = ทสพล > ทศพล แปลว่า “ผู้มีกําลังสิบ” เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า จึงเรียกว่า “พระทศพล

(๓) “ญาณ

บาลีอ่านว่า ยา-นะ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องช่วยรู้” “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้” “รู้สิ่งที่พึงรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญา, การหยั่งเห็น, ความเข้าใจ, การหยั่งรู้, การรับรู้, ความคงแก่เรียน, ทักษะ, ความฉลาด (knowledge, intelligence, insight, conviction, recognition, learning, skill)

ญาณ” ในความหมายพิเศษ หมายถึงปัญญาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างแจ่มชัดจนเกิดความสว่างไสวในดวงจิต หรือความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษถึงเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ทศพล + ญาณ = ทศพลญาณ อ่านว่า ทด-สะ-พน-ละ-ยาน หมายถึง พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต 10 ประการ มีฐานาฐานญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลาย) เป็นต้น มีอาสวักขยญาณ (ปรีชาหยั่งรู้เป็นเหตุให้สิ้นอาสวะทั้งหลาย) เป็นที่สุด

(๔) “หิตะ

บาลีเขียน “หิต” (หิ-ตะ) ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) มีประโยชน์, เหมาะสม, เป็นประโยชน์, เป็นมิตร (useful, suitable, beneficial, friendly)

(2) เพื่อน, ผู้มีบุญคุณ (a friend, benefactor)

(3) คุณประโยชน์, พร, ความดี (benefit, blessing, good)

(๕) “อสุร

อ่านว่า อะ-สุ-ระ คำเดียวกับที่เราใช้ว่า “อสูร” แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ไม่สนุกสนานเหมือนพวกเทวดา” (2) “ผู้ไม่รุ่งเรืองเหมือนเทวดา” (3) “ผู้ยังมีลมหายใจ” (คือรอดตายจากการถูกพวกเทวดาจับโยนลงมาจากสวรรค์) (4) “ผู้ร้องบอกกันว่า พวกเราไม่ดื่มสุราอีกแล้ว” ( + สุรา = อสุรา) หมายถึง เทพที่ตกต่ำ, อสูร (a fallen angel, a Titan)

(๖) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม > ธรรม มีความหมายหลายหลาก เช่น คุณความดี คําสั่งสอนในศาสนา หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา ความจริง ความยุติธรรม เป็นต้น

(๗) “ภูวะ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีอยู่” หมายถึง สัตว์โลก, สรรพสัตว์ที่มีชีวิต (creature, living being); แผ่นดิน (the earth)

(๘) “อริยสัจ” (อะ-ริ-ยะ-สัด) ประกอบด้วย อริย + สัจ

(ก) “อริย” (อะ-ริ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส” (2) “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล” (3) “ผู้ไกลจากกิเลส” (4) “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้” (5) “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายของ “อริย” ไว้ดังนี้ –

(1) ทางเชื้อชาติ: หมายถึง ชาติอารยัน (racial: Aryan)

(2) ทางสังคม: หมายถึง ผู้ดี, เด่น, อริยชาติ, สกุลสูง (social: noble, distinguished, of high birth)

(3) ทางจริยศาสตร์: หมายถึง ถูกต้อง, ดี, ดีเลิศ (ethical: right, good, ideal)

(ข) “สัจฺ” บาลีเป็น “สจฺจ” (สัด-จะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่มีในคนดีทั้งหลาย” (สัจจะจึงต้องเป็นไปในทางดี) (2) “สิ่งที่เบียดเบียนทุกข์” (สัจจะจึงต้องใช้เพื่อแก้ทุกข์ คือแก้ปัญหา)

สจฺจ” เป็นคำนาม แปลว่า ความจริง (the truth), การยืนยันแน่นอน (a solemn asseveration) เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จริง, แท้ (real, true)

อริย + สจฺจ = อริยสจฺจ > อริยสัจ หมายถึง ความจริงของพระอริยะ, ความจริงอันประเสริฐ; ชื่อธรรมสําคัญหมวดหนึ่งในพระพุทธศาสนา มี 4 ข้อ คือ 1. ทุกข์ 2. ทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์) 3. ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) และ 4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือ มรรค (ทางแห่งความดับทุกข์).(the Noble Truth; the Four Noble Truths; the Four Holy Truths)

…………

คำที่ยกขึ้นตั้งข้างต้นสามารถแยกศัพท์ได้ทุกคำ แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่สามารถเข้าใจได้ว่าต้องการจะสื่อความหมายว่าอย่างไร

นับเป็นการใช้ภาษาที่แปลกประหลาดอย่างหนึ่งที่ได้พบเห็นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้

: อาหารเลิศรส แต่กินไม่ได้ ๑

: สตรีบ้าใบ้ แต่หน้าตางาม ๑

: พูดไม่ได้ความ แต่ใช้คำหรู ๑

ท่านว่าเอาไว้ดูเล่นได้ แต่เอาจริงมิได้เลย

————-

(ตามคำรบกวนของ Chachapon Jayaphorn)

หมายเหตุ : ภาพประกอบ ด้วยอภินันทนาการจาก Chachapon Jayaphorn

20-7-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย