บาลีวันละคำ

โอวาทปาติโมกข์ (บาลีวันละคำ 1,364)

โอวาทปาติโมกข์

อ่านว่า โอ-วา-ทะ-ปา-ติ-โมก

ประกอบด้วย โอวาท + ปาติโมกข์

(๑) “โอวาท

บาลีอ่านว่า โอ-วา-ทะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง, ย้ำ) + วทฺ (ธาตุ = กล่าว) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อว เป็น โอ, ทีฆะ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา ด้วยอำนาจ ปัจจัย (วทฺ > วาท)

: อว > โอ + วทฺ = โอวท + = โอวทณ > โอวท > โอวาท แปลตามศัพท์ว่า “การกล่าวตอกย้ำเพื่อให้ระวัง” หมายถึง โอวาท, คำสั่งสอน, การตักเตือน, คำแนะนำ (advice, instruction, admonition, exhortation)

(๒) “ปาติโมกข์

บาลีเป็น “ปาติโมกฺข” (ปา-ติ-โมก-ขะ) มีรากศัพท์มาหลายทาง เช่น –

1) (ทั้งปวง) + อติ (เกิน, ล่วง) + โมกฺข (พ้น) = ปาติโมกฺข แปลว่า “ธรรมที่เป็นเหตุให้ล่วงพ้นจากทุกข์ได้ด้วยประการทั้งปวง

2) ปฏิ (มุ่งเฉพาะ) + มุข (ต้นทาง) = ปาติโมกฺข แปลว่า “หลักธรรมที่เป็นต้นทาง หรือเป็นประธานมุ่งหน้าไปสู่ความพ้นทุกข์

3) ปาติ (กิเลสที่ทำให้ตกนรก) + โมกฺข (ธาตุ = หลุดพ้น) = ปาติโมกฺข แปลว่า “ธรรมที่ยังบุคคลผู้รักษาให้หลุดพ้นจากนรก

อนึ่ง พึงทราบว่าศัพท์นี้สะกดเป็น “ปาฏิโมกฺข” ( ปฏัก) ก็มี

โอวาท + ปาติโมกฺข = โอวาทปาติโมกฺข > โอวาทปาติโมกข์ = คำสอนที่เป็นหลักเป็นประธาน (the Principal Teaching; the Fundamental Teaching)

ในวันเพ็ญเดือนมาฆะหลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน พระพุทธองค์ได้ตรัสคำสอนอันเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนาในท่ามกลางที่ประชุมพระอรหันตสาวก 1,250 องค์

ชาวพุทธเรียกหลักคำสอนนี้ว่า “โอวาทปาติโมกข์

โอวาทปาติโมกข์ ที่นิยมอ้างถึงมีข้อความว่า –

สพฺพปาปสฺส  อกรณํ

กุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํ

เอตํ  พุทฺธาน  สาสนํ.

(สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง

เอตัง พุทธานะ สาสะนัง)

เรียนรู้บาลี 10 คำ ใน “โอวาทปาติโมกข์

(1) สพฺพ (สับ-พะ) = ทั้งหมด, ทั้งปวง, ทั้งสิ้น, ทุกอย่าง (whole, entire; all, every)

(2) ปาปสฺส (ปา-ปัด-สะ) ศัพท์เดิมก่อนประกอบวิภัตติ : ปาป (ปา-ปะ) = ความเลวร้าย, การทำผิด, บาป (evil, wrong doing, sin)

(3) อกรณํ (อะ-กะ-ระ-นัง) = การไม่ทำ

กุสลสฺสูปสมฺปทา : กุสลสฺส + อุปสมฺปทา

(4) กุสลสฺส ศัพท์เดิม : กุสล (กุ-สะ-ละ) = สิ่งที่ดี, กุศลกรรม, บุญ, กุศล, กุศลจิต (a good thing, good deeds, virtue, merit, good consciousness)

(5) อุปสมฺปทา (อุ-ปะ-สำ-ปะ-ทา) = การรับ, การได้มา; ความถึงพร้อม, การเข้าถึง, การยอมรับ (taking, acquiring; obtaining, taking upon oneself, undertaking)

(6) (ของตน) + จิตฺต (หัวใจ, ความคิด, จิต; the heart, thought, mind) = สจิตฺต (สะ-จิด-ตะ) = จิตของตน

(7) ปริโยทปนํ (ปริ [รอบ] + โอทปน [การทำให้ขาว, การทำให้สะอาด] = ปริโยทปนํ) (ปะ-ริ-โย-ทะ-ปะ-นัง) = “การทำให้ขาวรอบ” > การทำให้สะอาด, การทำให้บริสุทธิ์ (cleansing, purification)

(8) เอตํ (เอ-ตัง) = นั่น, นี่

(9) พุทฺธาน (พุด-ทา-นะ) ศัพท์เดิม : พุทฺธ (พุด-ทะ) = ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หมายถึงพระพุทธเจ้า

(10) สาสนํ (สา-สะ-นัง) ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) คำสอน หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา” (teaching)

(2) คำสั่ง ในทางปกครองบังคับบัญชา (order to rule, govern)

(3) ข่าว คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” หรือ “สาสน์” (message)

ในที่นี้หมายถึง คำสอน

คำแปลโอวาทปาติโมกข์ :

การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑

การทำกุศลให้ถึงพร้อม ๑

การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ ๑

สามประการนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

อภิปราย :

๑ การไม่ทำบาปนั้น ท่านมีคำว่า “สพฺพ = ทั้งปวง” กำกับไว้ด้วย แสดงว่า บาปหรือความชั่วทุกอย่างต้องไม่ทำเลย ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงไร

๒ ครั้นถึงตอนทำกุศล ท่านไม่ได้ใช้คำว่า “สพฺพ = ทั้งปวง” กำกับไว้เหมือนทำบาป ทั้งนี้เพราะความดีมีหลายอย่างหลายระดับ แต่ละคนมีความสามารถไม่เท่ากัน จะบังคับให้ทำความดี “ทุกอย่าง” ไม่ได้อยู่เอง จึงบอกเพียงว่า “ทำให้ถึงพร้อม” คือทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

๓ “สจิตฺต = จิตของตน” เป็นการเตือนว่า ให้ทำกับจิตของตน ไม่จำเป็นต้องห่วงจิตของคนอื่น ถ้าจะห่วง ก็ห่วงจิตของตนให้มากกว่า

๔ ความจริง โอวาทปาติโมกข์มี 3 ตอน ไม่ใช่ตอนเดียวดังที่มักยกไปอ้าง มีผู้รู้ในชั้นหลังท่านเรียกตอนแรกว่า “อุดมการณ์” เรียกตอนที่สองว่า “หลักการ” เรียกตอนที่สามว่า “วิธีการ”

ที่นิยมอ้างถึงนี้ถือว่าเป็นตอนที่สอง คือหลักการ (หลักฐานบางแห่งแสดงตอนแรกกับตอนที่สองสลับกัน คือ สพฺพปาปสฺส … นี้แสดงเป็นตอนแรกก็มี) ชาวพุทธควรศึกษาให้ครบทุกตอน

มาฆบูชา >

: ไปให้ถึงปฏิบัติบูชาแท้ๆ

: อย่าติดอยู่แค่เวียนเทียน

22-2-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย