สติวิปลาส (บาลีวันละคำ 2,171)
สติวิปลาส
อ่านว่า สะ-ติ-วิ-ปะ-ลาด
ประกอบด้วยคำว่า สติ + วิปลาส
(๑) “สติ”
รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > ส)
: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท”
“สติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)
(๒) “วิปลาส”
บาลีเป็น “วิปลฺลาส” (วิ-ปัน-ลา-สะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + อสฺ (ธาตุ = ซัด, ขว้างไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ ที่ ปริ เป็น ย (ปริ > ปรฺย), แปลง ร ที่ ปรฺ เป็น ล (ปรฺ > ปลฺ), แปลง ลฺย (คือ ปริ > ปรฺย > ปลฺย) เป็น ล (ปลฺย > ปลฺ), ซ้อน ล, ทีฆะ อะ ที่ อ-(สฺ) เป็น อา (อสฺ > อาส)
: วิ + ปริ = วิปริ > วิปรฺย > วิปลฺย > วิปล > วิปลฺล + อสฺ = วิปลฺลส + ณ = วิปลฺลสณ > วิปลฺลส > วิปลฺลาส
“วิปลฺลาส” (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ขว้างไปผิด” หมายถึง ความแปรปรวน, ความพลิกผัน, การกลับกัน, ความเปลี่ยนแปลง (โดยเฉพาะในทางไม่ดี), ความตรงกันข้าม, ความวิปริต, การทำให้ยุ่งเหยิง, ความเสียหาย, ความผิดเพี้ยน (reversal, change (esp. in a bad sense), inversion, perversion, derangement, corruption, distortion)
“วิปลฺลาส” สันสกฤตเป็น “วิปรฺยาส”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิปรฺยาส : (คำนาม) ‘วิบรรยาส,’ ไวปรีตย์, ความวิปริต, วิปักษตา; วิการ, ปริณาม, หรือความวิบัท; การคิดเห็นสิ่งที่ผิดเปนชอบหรือเห็นเท็จเปนจริง; contrariety, opposition; reverse; imagining what is unreal or false to be real or true.”
“วิปลฺลาส” ภาษาไทยเขียน “วิปลาส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิปลาส : (คำกริยา) คลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ เช่น สติวิปลาส ตัวอักษรวิปลาส สัญญาวิปลาส. (ป. วิปลฺลาส, วิปริยาส; ส. วิปรฺยาส).”
สติ + วิปลาส = สติวิปลาส แปลว่า (1) “สติที่แปรปรวน” (2) “ความแปรปรวนแห่งสติ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สติวิปลาส : (คำวิเศษณ์) มีสติฟั่นเฟือนคล้ายคนบ้า, สัญญาวิปลาส ก็ว่า.”
“สติวิปลาส” เป็นคำบาลีที่ผูกขึ้นใช้ในภาษาไทย ในคัมภีร์บาลียังไม่พบคำ “สติวิปลฺลาส” แต่มีคำอื่นที่คล้ายกัน ดังนี้
– สญฺญาวิปลฺลาส = สัญญาคลาดเคลื่อน คือหมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง
– จิตฺตวิปลฺลาส = จิตคลาดเคลื่อน คือความคิดผิดพลาดจากความเป็นจริง
– ทิฏฺฐิวิปลฺลาส = ทิฐิคลาดเคลื่อน คือความเห็นผิดพลาดจากความเป็นจริง
ในทางพระศาสนา ท่านว่าวิปลาสที่เป็นพื้นฐาน เป็นไปใน 4 ด้าน คือ –
1. วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง (to regard what is impermanent as permanent)
2. วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข (to regard what is painful as pleasant)
3. วิปลาสในสิ่งที่ไม่เป็นตัวตน ว่าเป็นตัวตน (to regard what is non-self as a self)
4. วิปลาสในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม (to regard what is foul as beautiful)
ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนบ้า อาจจะวิปลาสแค่ชาตินี้
: คนไม่บ้า แต่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี วิปลาสทุกชาติไป
#บาลีวันละคำ (2,171)
23-5-61