ธรรมีกถา (บาลีวันละคำ 3,383)
ธรรมีกถา
กถามีธรรม
อ่านว่า ทำ-มี-กะ-ถา
ประกอบด้วยคำว่า ธรรมี + กถา
(๑) “ธรรมี”
อ่านว่า ทำ-มี (ไม่ใช่ ทัน-มี) บาลีเป็น “ธมฺมี” อ่านว่า ทำ-มี รูปคำเดิมมาจาก ธมฺม + อี ปัจจัย
(ก) “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ สรุปความหมายในแง่หนึ่งไว้ว่า “ธมฺม” หมายถึง –
(1) doctrine (คำสอน)
(2) right or righteousness (สิทธิหรือความถูกต้อง)
(3) condition (เงื่อนไข)
(4) phenomenon (ปรากฏการณ์)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “ธมฺม” (Dhamma) เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –
1. the Dharma; the Dhamma; the Doctrine; the Teachings (of the Buddha).
2. the Law; nature.
3. the Truth; Ultimate Reality.
4. the Supramundane, especially nibbāna.
5. quality; righteousness; virtue; morality; good conduct; right behaviour.
6. tradition; practice; principle; norm; rule; duty.
7. justice; impartiality.
8. thing; phenomenon.
9. a cognizable object; mind-object; idea.
10. mental state; mental factor; mental activities.
11. condition; cause; causal antecedent.
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
(ข) ธมฺม + อี ปัจจัยในตัทธิต (ประเภทตทัสสัตถิตัทธิต) มีคำแสดงความหมายว่า “ธรรมะในกถานั้น มีอยู่ เหตุนั้น กถานั้นจึงชื่อว่า มีธรรม”
: ธมฺม + อี = ธมฺมี (ทำ-มี) แปลตามศัพท์ว่า “(กถา) มีธรรม”
(๒) “กถา”
รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กถฺ + อ = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้”
“กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)
(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)
(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)
(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)
(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)
(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กถา : (คำนาม) ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว. (ป.).”
: ธมฺมี + กถา = ธมฺมีกถา (ทำ-มี-กะ-ถา) แปลตามศัพท์ว่า “กถาอันมีธรรม” หมายถึง คำพูดที่ประกอบด้วยธรรมะ
ขยายความ :
ในการประกาศธรรมหรือเผยแผ่พระศาสนา มีองค์ประกอบที่เป็นคุณลักษณะ 4 ประการที่นักเผยแผ่นิยมยกไปอ้างเสมือนเป็นหลักการ คือ
1. สันทัสสนา: ชี้ให้ชัด
2. สมาทปนา: ชวนให้ปฏิบัติ
3. สมุตเตชนา: เร้าใจให้แกล้วกล้า
4. สัมปหังสนา: ปลุกให้ร่าเริง
ทั้ง 4 นี้เป็น “วิธี” ดังจะถามว่า “ทำอย่างไร” ก็ตอบว่า ทำด้วยวิธีทั้ง 4 อย่างนี้
แต่สิ่งสำคัญที่นักเผยแผ่มักจะมองข้าม ไม่นำมาอ้างอิงไว้ด้วยก็คือ “ใช้อะไรทำ”
ทั้งนี้เพราะในหลักการของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้บอกเพียงแค่ทำอย่างไร แต่บอกเครื่องมือที่จะต้องใช้กำกับไว้ด้วยทุกครั้ง นั่นคือคำว่า “ธมฺมิยา กถาย” ซึ่งแปลว่า “ด้วยกถาที่มีธรรม” คือทำด้วยถ้อยคำที่ประกอบด้วยธรรม หมายความว่า จะชี้ จะชวน จะเร้าใจ ปลุกใจให้ร่าเริงขนาดไหน ก็ต้องทำด้วยถ้อยคำที่ประกอบด้วยธรรม ไม่ใช่ทำตามใจชอบ
และ “ธรรม” หมายถึงอะไร ก็อาจจำกัดความรวมๆ ด้วยคำว่า คือความเหมาะสม ถูกต้อง ดีงาม ถ้าจะหาคำจำกัดความต่อไปอีกว่า แค่ไหนอย่างไรจึงจะถือว่าถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม ก็ต้องศึกษาเรียนรู้ระเบียบ แบบแผน กฎเกณฑ์ หลักการ ซึ่งมีรายละเอียดกว้างขวาง
หมายความว่า ถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม ตามหลักการ ไม่ใช่ถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม ตามความพอใจของผู้แสดงหรือแม้แต่ของผู้สดับ
“ธมฺมิยา กถาย” ถอดวิภัตติออกก็จะได้รูปเป็น “ธมฺมี กถา” (แยกกันเป็น 2 คำ) สมาสเป็นคำเดียวกันได้รูปเป็น “ธมฺมีกถา” (ทำ-มี-กะ-ถา) แปลเป็นสำนวนล้อคำ แต่ได้ความตรงตามศัพท์ว่า “กถามีธรรม”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ฟังกถาที่ไม่มีธรรม
: เหมือนกินยาผสมน้ำ แต่ลืมใส่ยา
#บาลีวันละคำ (3,383)
16-9-64