นานาวาท (บาลีวันละคำ 3,382)
นานาวาท
เห็นต่าง
“นานาวาท” บาลีอ่านว่า นา-นา-วา-ทะ ประกอบด้วยคำว่า นานา + วาท
(๑) “นานา”
อ่านตรงตัวเหมือนภาษาไทยว่า นา-นา เป็นคำจำพวก “นิบาต” ลักษณะเฉพาะของนิบาตคือ คงรูป ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย
“นานา” แปลตามศัพท์ว่า “อย่างนั้นอย่างนี้” (so and so) หมายถึง ต่างๆ, หลายอย่าง, ปนกันหลายอย่าง, ทุกชนิด (different, divers, various, motley; variously, differently, all kinds of)
คำไข :
“นานา” มีความหมายว่าอย่างไร คัมภีร์มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม 29 ข้อ 521 ไขความไว้ว่า “นานา” มีความหมายเท่ากับ วิวิธํ, อญฺโญญฺญํ, ปุถุ, น เอกํ
(1) วิวิธํ (วิ-วิ-ทัง) = หลายอย่าง, ต่างประการ, ปนกัน (divers, manifold, mixed)
(2) อญฺโญญฺญํ (อัน-โยน-ยัง) = แปลตามตัวว่า “อื่นและอื่น” หมายถึง ซึ่งกันและกัน, ต่อกันและกัน, เกี่ยวทั้งสองฝ่าย, ตอบแทนซึ่งกันและกัน (one another, each other, mutually, reciprocally)
(3) ปุถุ (ปุ-ถุ) = มากมาย, หลายอย่าง, ต่างๆ (numerous, various, several, more, many, most)
(4) น เอกํ (นะ เอ-กัง) = แปลตามตัวว่า “ไม่ใช่หนึ่ง” หมายถึง มาก, ต่างๆ กัน; นับไม่ได้, คำนวณไม่ได้ (“not one”, many, various; countless, numberless)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นานา : (คำวิเศษณ์) ต่าง ๆ. (ป.).”
(๒) “วาท”
บาลีอ่านว่า วา-ทะ รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ว-(ทฺ) เป็น อา (วท > วาท)
: วทฺ + ณ = วทณ > วท > วาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องพูด”
คำว่า “วาท” ที่ใช้ในภาษาบาลีมีความหมายกว้างกว่าที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ :
(1) การพูด, คำพูด, การคุย (speaking, speech, talk)
(2) สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ (what is said, reputation, attribute, characteristic)
(3) การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน (discussion, disputation, argument, controversy, dispute)
(4) คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาท, วาท- : (คำนาม) คําพูด, ถ้อยคํา; ลัทธิ, ความเห็น. (ป., ส.).”
นานา + วาท = นานาวาท แปลตามศัพท์ว่า “คำพูดต่างกัน” หมายถึง ความแตกต่างในความคิดเห็น (difference of opinion)
ขยายความ :
“นานาวาท” เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ แต่ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังไม่ได้เก็บคำนี้ไว้
“นานาวาท” เป็นคำหนึ่งในคำจำกัดความสิ่งที่เรียกว่า “วิวาทาธิกรณ์” คือกรณีที่เกิดการโต้เถียงกัน
ขอยกตัวอย่างเรื่องที่โต้เถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย อันนับว่าเป็น “วิวาทาธิกรณ์” มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นความรู้ ดังนี้ –
…………..
(1) ฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้คือธรรม อีกฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้ไม่ใช่ธรรม
(2) ฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้คือวินัย อีกฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้ไม่ใช่วินัย
(3) ฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อีกฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส
(4) ฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าเคยประพฤติมา อีกฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าไม่เคยประพฤติมา
(5) ฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ อีกฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติ
(6) ฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติ อีกฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้ไม่เป็นอาบัติ
(7) ฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติเบา อีกฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติหนัก
( ฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติเพียงบางส่วน อีกฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติหมดทุกส่วน
(9) ฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติชนิดเลวทราม อีกฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติก็จริง แต่ไม่ใช่เลวทราม
…………..
แล้วสรุปลงว่า –
…………..
ภณฺฑนํ = ความบาดหมาง
กลโห = ความทะเลาะ
วิคฺคโห = ความแก่งแย่ง
วิวาโท = การทุ่มเถียง
นานาวาโท = การพูดต่างกัน
อญฺญถาวาโท = การพูดไปคนละเรื่อง
วิปจฺจตาย โวหาโร = การพูดชวนทะเลาะ
เมธคํ = การพูดมุ่งร้าย
อิทํ วุจฺจติ วิวาทาธิกรณํ.
นี้เรียกว่า วิวาทาธิกรณ์
ที่มา: สมถขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 6 ข้อ 633
…………..
จะเห็นได้ว่า “นานาวาท” เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของวิวาทาธิกรณ์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนเขลา ใช้ความเห็นต่างเป็นทางสร้างความแตกแยก
: คนฉลาด ใช้ความเห็นแตกเป็นทางสร้างสามัคคี