อาสาสมัคร (บาลีวันละคำ 249)
อาสาสมัคร
คำบาลีสันสกฤต ใช้แบบไทย อ่านว่า อา-สา-สะ-หฺมัก
“อาสา” บาลีเขียนและอ่านเหมือนกัน แปลว่า ความจำนง, ความหวัง, ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้, ความคาดหวัง
“สมัคร” บาลีเป็น “สมคฺค” (สะ-มัก-คะ) องค์ประกอบมีหลายมติ ยกมาพอเป็นตัวอย่าง –
1. “สมคฺค” มาจาก สม + คม (ธาตุ = ไป, ถึง) ซ้อน ค ลบ ม = สมคฺค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ดำเนินไปในสมะ”
คำว่า “สม” (สะมะ) มีความหมายว่า เท่ากัน, เสมอกัน, อย่างเดียวกัน, เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตใจไม่วอกแวก, ยุติธรรม, รวมเข้าด้วยกัน, ครบถ้วน
2. “สมคฺค” มาจาก สํ + อคฺค แปลงนิคหิตเป็น ม = สมคฺค แปลว่า “ดำเนินไปพร้อมกันโดยมีเป้าหมายร่วมกัน”
“สมคฺค” สันสกฤตเป็น “สมคฺร” เราเขียนตามสันสกฤตเป็น “สมัคร” และอ่านว่า สะ-หฺมัก
“อาสาสมัคร” เป็นคำที่เราผูกขึ้นใช้ในภาษาไทย คือเอา อาสา + สมัคร แล้วก็ให้ความหมายตามที่เราต้องการ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“อาสาสมัคร : เสนอตัวเข้าทำงานด้วยความสมัครใจ เช่น ทหารอาสาสมัคร. บุคคลที่เสนอตัวเข้าทำงานด้วยความสมัครใจ เช่น เขาเป็นอาสาสมัคร”
“อาสาสมัคร” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า volunteer
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล volunteer เป็นภาษาบาลีว่า
– “สจฺฉนฺทการี” (สัด-ฉัน-ทะ-กา-รี) = “ทำโดยมีความพอใจร่วมกัน”
– “เสจฺฉาเสวก” (เสด-ฉา-เส-วะ-กะ) = “ผู้มาร่วมกินร่วมนอน (เพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง) ด้วยความปรารถนาร่วมกัน”
: ภาษาบาลี ถ้าใช้ไม่ดีก็เหมือนเมียเช่าพูดอังกฤษ
: ระวัง รถสวน ! = car garden !
บาลีวันละคำ (249)
13=1=56
อาสา
ก. เสนอตัวเข้ารับทำ.น. ความหวัง เช่น นิราสา = ความหวังหมดแล้ว คือ ความหมดหวัง, ความต้องการ, ความอยาก. (ป.; ส. อาศา).
อาสาสมัคร
ว. ที่เสนอตัวเข้าทำงานด้วยความสมัครใจ เช่น ทหารอาสาสมัคร.น. บุคคลที่เสนอตัวเข้าทำงานด้วยความสมัครใจ เช่น เขาเป็นอาสาสมัคร.
อาสาความหวัง, ความปรารถนา, ความอยาก, ตัณหา (ศัพท์วิเคราะห์)
อิจฺฉติ เอตายาติ อาสา ธรรมชาติเป็นเหตุให้อยาก
อิสุ ธาตุ ในความหมายว่าอยาก อ ปัจจัย แปลง อิ เป็น อา
อาสา อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ความปรารถนา, ความหวัง.
อาสา (บาลี-อังกฤษ)
ความจำนง, ความหวัง, ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้, คาดล่วงหน้า, ความคาดหวัง
สมคฺค (บาลี-อังกฤษ)
เป็นอันหนึ่งอันเดียว, มีความสามัคคี, ประสานกัน
สมคฺค ทั้งปวง, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น (ศัพท์วิเคราะห์)
อคฺเคน สิขเรน สงฺคตํ สมคฺคํ สิ่งที่มาพร้อมกันโดยยอดรวม
สํ + อคฺค แปลงนิคหิตเป็น ม
สมคฺค (สํ + อคฺค) (บาลี-อังกฤษ)
เป็นอันหนึ่งอันเดียว, มีความสามัคคี, สามัคคีกันหมด, รวมกัน, สันติภาพ, สงบ
สมคฺค ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
การสมัคร, การร่วมหมู่, การอาสา.
สมคฺค ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน, มีความสามัคคี, ประสานกัน,สามัคคีกัน
สมคฺค จากคัมภีร์
1 คัมภีร์ปัญจิกา ภาค 2 (หนังสืออธิบายศัพท์และวิธีแปลสำหรับคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี) หน้า 662 บอกว่า มาจาก สม + คมฺ (คมฺ เป็นธาตุ คือรากศัพท์ แปลว่า ไป, ถึง) ลบ มฺ ที่สุดธาตุ ซ้อน ค = สมคฺค
ตั้งวิเคราะห์ว่า สเม คจฺฉนฺติ ปวตฺตนฺตีติ = สมคฺคา
แปลว่า ปัจจัยที่ดำเนินไปในสมะ ชื่อว่า สมคฺค
คำว่า “สม” (สะมะ) มีความหมายว่า เท่ากัน เสมอกัน อย่างเดียวกัน เที่ยงธรรม ซื่อตรง มีจิตใจไม่วอกแวก ยุติธรรม รวมเข้าด้วยกัน ครบถ้วน
2 คัมภีร์ปัญจิกา ภาค 3 หน้า 236 บอกว่า มาจาก สํ + อคฺค
สํ แปลว่า พร้อมกัน, ร่วมกัน
อคฺค ในที่นี้เป็นคำนาม แปลว่า ยอด (ส่วนยอดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ยอดเขา ยอดปราสาท) ในความหมายว่า ศูนย์รวม หรือเป้าหมายร่วมกัน
ตั้งวิเคราะห์ว่า อคฺเคน สิขเรน สงฺคตา ธมฺมา = สมคฺคา
แปลว่า สิ่งที่ดำเนินไปพร้อมกันโดยมีเป้าหมายร่วมกัน ชื่อว่า สมคฺค