รามเกียรติ์ (บาลีวันละคำ 250)
รามเกียรติ์
คำบาลีสันสกฤต ใช้แบบไทย อ่านว่า ราม-มะ-เกียน
“รามเกียรติ์” เขียนแบบบาลีเป็น “รามกิตฺติ” (รา-มะ-กิด-ติ) ประกอบด้วยคำว่า ราม + กิตฺติ
“ราม” ในที่นี้เป็นชื่อเฉพาะ คือชื่อตัวเอกในเรื่องรามเกียรติ์ ที่เราเรียกกันว่า “พระราม”
ในภาษาบาลี “ราม” มีความหมายว่า สุขารมณ์,ความยินดี, ความสนุกสนาน, ความเพลิดเพลิน
“กิตฺติ” สันสกฤตเป็น กีรฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ความดีอันเขากล่าวถึง” หมายถึงคําเล่าลือ, คําสรรเสริญ, ชื่อเสียง, เกียรติยศ, ความรุ่งโรจน์
“กิตฺติ-กีรฺติ” เราเอามาแปลงรูปตามสูตรไทย คือ “อิ หรือ อี = เอีย”
กิตฺติ เขียนอิงสันสกฤต คือ กีรฺติ = เกียรติ ออกเสียงแบบไทยว่า เกียด
แต่เฉพาะในคำว่า “รามกิตฺติ = รามกีรฺติ = รามเกียรติ” เดิมน่าจะอ่านว่า รา-มะ-เกีย-ระ-ติ แล้วกร่อนกลายลงมาเป็น รา-มะ-เกียน เวลาเขียนจึงใส่การันต์ที่ ติ บังคับให้ ร เป็นตัวสะกดไป
“รามเกียรติ์” แปลว่า “เกียรติประวัติของพระราม” ว่าด้วยพระรามทําศึกกับทศกัณฐ์เพื่อชิงนางสีดา เป็นวรรณคดีที่คนไทยรู้จักกันดีเรื่องหนึ่ง
สันสกฤตเรียกวรรณคดีเรื่องนี้ว่า “รามายณ” (รา-มา-ยะ-นะ) คัมภีร์บาลีเรียกเรื่องรามเกียรติ์ว่า “สีตาหรณกถา” (สี-ตา-หะ-ระ-น-กะ-ถา) แปลว่า “เรื่องชิงนางสีดา”
รามเกียรติ์ = รามเกียรติ = รามกีรฺติ = รามกิตฺติ คำหลังสุดนี้เป็นคำบาลี แต่เป็นบาลีตามภูมิปัญญาไทย ไม่มีใช้ในคัมภีร์บาลี
บาลีวันละคำ (250)
14-1-56
ราม (บาลี-อังกฤษ)
สุขารมณ์,ความยินดี, ความสนุกสนาน, ความเพลิดเพลิน
ราม ๒
น. ชื่อตัวเอกในเรื่องรามเกียรติ์.
รามเกียรติ์
[รามมะเกียน] น. ชื่อวรรณคดีเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยพระรามทําศึกกับทศกัณฐ์เพื่อชิงนางสีดา.
กิตฺติ (ศัพท์วิเคราะห์)
กิตฺตียเต กถียเตติ กิตฺติ ความดีอันเขากล่าวถึง
กิตฺต ธาตุ ในความหมายว่ากล่าวถึง อิ ปัจจัย
กิตฺติ(บาลี-อังกฤษ)
ชื่อเสียง, เกียรติยศ, ความรุ่งโรจน์, เกียรติ
กิตติ
[กิดติ] น. คําเล่าลือ, คําสรรเสริญ. (ป.).
กิตฺติ อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
เกียรติ, ชื่อเสียง, การสดุดี, การสรรเสริญ.
เกียรติ, เกียรติ-, เกียรติ์
[เกียด, เกียดติ-, เกียน] น. ชื่อเสียง, ความยกย่องนับถือ, ความมีหน้ามีตา. (ส. กีรฺติ; ป. กิตฺติ ว่า คำเล่าลือ, คำสรรเสริญ).
เกียรติประวัติ
[เกียดติปฺระหฺวัด, เกียดปฺระหฺวัด] น. ประวัติที่ได้รับความสรรเสริญ, ประวัติที่เลื่องลือ.